Showing posts with label research farm. Show all posts
Showing posts with label research farm. Show all posts

30 September 2009

ทดลองปลูกสตรอเบอร์รี่

0 comments

 

ปลูกสตรอเบอร์รี่ในรางปลูกระบบไร้ดินหลังจากที่สถานีทดลองได้ทำการขยายพันธุ์และเพาะเลี้ยงต้นกล้าสตรอเบอร์รี่พันธุ์ไต้หวันด้วยการใช้ไหล ได้ต้นกล้าที่แข็งแรงและสมบูรณ์ดี จึงได้นำต้นกล้ามาทดลองปลูกโดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ


กลุ่มแรก ปลูกในรางปลูกระบบไร้ดิน โดยใช้ขุยมะพร้าวเป็นวัสดุปลูก ให้น้ำและปุ๋ยทางระบบน้ำหยด


กลุ่มที่สอง ปลูกในแปลงปลูก ให้น้ำและปุ๋ยเหมือนกับการปลูกสตรอเบอร์รี่ในดินตามปกติ

 

ซึ่งโดยปกติแล้ว สตรอเบอร์รี่จะเริ่มติดดอกในช่วงเดือนพฤศจิกายน และผลจะสุกหลังจากติดดอก 21-25 วัน ระยะแรกผลจะมีสีเขียว และค่อย ๆ เปลี่ยนเป็นสีขาว เมื่อผลแก่จะเปลี่ยนเป็นสีแดงเข้ม มีรสเปรี้ยวปนหวาน  (ฝ่ายส่งเสริมการเกษตร สำนักวิจัยและส่งเสริมวิชาการการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ )

Read full story

18 September 2009

ทดลองขยายพันธุ์สตรอเบอร์รี่ด้วยไหล

0 comments
ใช้ไหลขยายพันธุ์สตรอเบอร์รี่

สตอเบอร์รี่ (Strawberry) เป็นผลไม้ที่มีรสชาติอร่อยและเป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไป จัดเป็นไม้ผลเศรษฐกิจชนิดหนึ่งที่มีการปลูกกระจายกันมากที่สุดในโลก สามารถพบได้แทบทุกประเทศ ตั้งแต่แถบขั้วโลกลงมาถึงพื้นที่ในเขตร้อน ซึ่งมีความแตกต่างกันทั้งสภาพภูมิอากาศและชนิดดินที่ใช้ปลูก บางพันธุ์จะพบว่าสามารถปลูก ในทางเหนือของโลก เช่น  Alaska ได้ดีเท่ากับปลูกในทางใต้ลงมาเช่นแถบ Equator


ผลผลิตสตรอเบอร์รี่ที่ใช้สำหรับบริโภคเป็นผลสด และใช้ในเชิงอุตสาหกรรมแปรรูปได้เพิ่มปริมาณมากขึ้นอย่างรวดเร็วตามประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ทั้งนี้ เป็นสาเหตุมาจากการผสมพันธุ์ใหม่ที่ให้ผลผลิตยาวนานขึ้น การนำระบบปลูกแบบดูแลอย่างใกล้ชิดมาใช้ ตลอดจนการเลือกพื้นที่ปลูก ที่มีความเหมาะสมมากกว่าแต่ก่อน ในปัจจุบันนี้ก็ยังมีการทดลองวิจัยที่จะหาวิธีการต่าง ๆ เพื่อที่จะทำให้การปลูกสตรอเบอร์รี่นั้นง่ายขึ้น โดยเน้นการให้ผลผลิตสูงและสามารถทำรายได้ตอบแทนเป็นที่พอใจแก่เกษตรกรผู้ปลูก

 

การขยายพันธุ์สตรอเบอร์รี่มีด้วยกันหลายวิธี ขึ้นกับวัตถุประสงค์และลักษณะประจำพันธุ์ แต่วิธีที่เป็นที่นิยม โดยเฉพาะการปลูกสตรอเบอร์รี่ในประเทศไทยจะได้แก่ การใช้ไหล ซึ่งเป็นตาที่เจริญเติบโตมาจากต้นแม่ ตรงบริเวณซอกของก้านใบ การผลิตต้นไหลจะทำหลังจากการเก็บเกี่ยวผลผลิตเสร็จแล้ว (มีนาคม – เมษายน) โดยนำต้นไหลมาปลูกในถุงดำ ปล่อยให้เจริญเติบโตจนถึงเดือนมิถุนายน จึงนำไปปลูกบนที่สูงประมาณ 1,200 – 1,400 เมตร เพื่อให้สามารถตั้งตัวและออกดอกได้เร็ว มีระยะการเก็บเกี่ยวได้นานขึ้น เมื่อเริ่มเข้าสู่ปลายเดือนกันยายน จะนำกลับลงมาปลูกในแปลงบนพื้นที่ราบ

 

 

 

ไหลสตอร์เบอร์รี่พันธุ์ไต้หวันที่ขยายได้

สถานีทดลองได้ทำการทดลองขยายพันธุ์สตรอเบอร์รี่ที่นำท่อนไหลมาจากไต้หวัน ได้ไหลที่มีความสมบูรณ์ ใบใหญ่ และแข็งแรง ซึ่งจะนำไหลที่ทำการขยายได้ทั้งหมดไปทดลองปลูกในโรงเรือนในช่วงฤดูหนาว เพื่อทดสอบว่าพื้นที่ อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย ซึ่งมีความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 750 –780 เมตร จะสามารถปลูกสตรอเบอร์รี่ให้ผลิตได้หรือไม่

 

 

 

http://pennisakowaim-a.blogspot.com
http://www.thaigoodview.com

http://www.ku.ac.th

http://blog.hunsa.com/yisumsam6605

Read full story

09 September 2009

วิธีการคำนวณปุ๋ยอินทรีย์สำหรับปรับปรุงดิน

0 comments

ในการปรับปรุงคุณภาพดินของสถานีทดลอง พบว่าผลวิเคราะห์ดินของสถานีทดลองมีค่า pH ค่อนข้างเป็นกรดเล็กน้อย แต่มีอินทรียวัตถุต่ำมากและมีแคลเซียมต่ำกว่าค่ามาตรฐานที่พืชต้องการถึง 10 เท่า ดังนั้นจึงจำเป็นต้องเตรียมปุ๋ยหรือเศษอินทรียวัตถุเพิ่มลงในดิน การเพิ่มแคลเซียมสามารถใช้เศษเปลือกไข่บด หรือหินปูนบดที่ไม่เผาไฟประมาณ 200 กิโลกรัมต่อไร่ แต่ถ้าหาไม่ได้ก็ใช้โดโลไมท์แทนก็ได้ในอัตราเดียวกัน

วิธีการคำนวณปุ๋ยอินทรีย์สำหรับดินขนาด 1 ไร่
สมมติให้รากพืชสามารถหาอาหารได้ในความลึกเพียง 10 ซม. เท่านั้น (ในความเป็นจริงค่าจะมากกว่านี้) ดังนั้นคำนวณค่าต่างๆคือ

(1) พื้นที่ 1 ตร.ม. เท่ากับมีดิน 0.1 ลูกบาศก์เมตร

(2) พื้นที่ 1 ไร่เทียบเป็นตารางเมตรได้ 1,600 ตร.ม. จึงเท่ากับมีปริมาณดิน 160 ลบ.ม.

(3) ค่าความหนาแน่นของดิน พบว่าดินทั่วไปมีค่าเท่ากับ 1.3 – 1.5 กรัม/ลบ.ซม. คิดที่สูงสุดเพราะเป็นดินเหนียวหนาแน่นมาก คือ 1,500 กรัม ต่อ ลิตร หรือ 1.5 ตัน/ลบ.ม.

(4) ปริมาณดิน 1 ลบ.ม. มีน้ำหนัก 1.5 ตัน นั่นคือ ดิน 1 ไร่ที่คิดหน้าดินลึกเพียง 10 ซม.จะมีน้ำหนักเท่ากับ 160 x 1.5 = 240 ตัน หรือ 24,00 กิโลกรัม

ผลการวิเคราะห์ดินของสถานีทดลองพบว่ามีอินทรียวัตถุ 0.97 หรือประมาณ 1% ในขณะที่ค่ามาตรฐานอยู่ที่ 3% และโดยทั่วไปปุ๋ยอินทรีย์จะมีอินทรียวัตถุ 50%


ทำการเทียบแบบ Pearson’s Square* จะได้ว่า

 

นั่นหมายความว่าใช้ดิน 47 ส่วนผสมกับปุ๋ยอินทรีย์ที่มีอินทรียวัตถุ 50% จำนวน 2 ส่วนจะได้อินทรียวัตถุในดิน 3% เมื่อเทียบบัญญัติไตรยางศ์จะได้

ดิน 47 กิโลกรัม ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ 2 กิโลกรัม

ดิน 24,00 กิโลกรัม จะใช้ปุ๋ยอินทรีย์ 2 x 24,000 = 1,021.28 กก.

                                                                  47

นั่นคือต้องใช้ปุ๋ยอินทรีย์ครั้งละ 1.02 ตันต่อไร่ในแต่ละครั้ง แต่อินทรียวัตถุจะสลายตัวหมดได้ไม่เกิน 2 เดือน  ดังนั้นทั้งปีจึงต้องใช้ปุ๋ยอินทรีย์บำรุงดินขั้นต่ำ 6 ตันต่อไร่ จึงจะสามารถรักษาระดับอินทรียวัตถุในดินได้ตามความต้องการของพืช

* การคำนวณโดยใช้สี่เหลี่ยมของเพียร์สัน (Pearson's square method)
เป็นวิธีคำนวณโดยอาศัยรูปสี่เหลี่ยม เหมาะสำหรับใช้เมื่อมีวัตถุดิบเพียงสองชนิดหรือสองกลุ่ม และปริมาณที่ต้องการคำนวณจะต้องมีหน่วยในรูปร้อยละเท่านั้น ในกรณีของการคำนวณเพื่อปรับปรุงดินปริมาณอินทรีย์วัตถุที่ต้องการจะต้องมีค่าอยู่ระหว่างจำนวนอินทรีย์วัตถุที่มีอยู่ในวัตถุดิบของทั้งสองกลุ่ม

 

ขั้นตอนในการคำนวณ มีดังนี้
1. เขียนปริมาณอินทรีย์วัตถุที่ต้องการเป็นร้อยละไว้ตรงกึ่งกลางของรูปสี่เหลี่ยม ในที่นี้คือ 3

2. เขียนปริมาณอินทรีย์วัตถุซึ่งอยู่ในวัตถุดิบแต่ละชนิดที่ต้องการใช้ทั้งสองชนิดเป็นร้อยละ ไว้ตรงมุมซ้ายทั้งบน และล่างของรูปสี่เหลี่ยม ในที่นี้คือ ดิน = 1 และ ปุ๋ย = 50

3. หาผลต่างระหว่างตัวเลขที่มุมซ้ายกับตัวเลขกึ่งกลางของรูปสี่เหลี่ยมคำนวณแล้วใส่ผลต่างไว้ทางมุมขวาตามแนวเส้นทะแยงมุมของ ตัวเลขที่ใช้หาผลต่าง

ดิน 1-3 = 2

ปุ๋ย 50 –3 = 47


4. ตัวเลขที่ได้ทางมุมขวาเป็นปริมาณหรือสัดส่วนของวัตถุดิบที่เมื่อผสมวัตถุดิบทั้งสองชนิดตามสัดส่วนที่ได้นี้จะได้ดินที่มีจำนวนอินทรีย์วัตถุตรงกับความต้องการที่กำหนดไว้

อ้างอิง : อ.ธาตรี จีราพันธุ์ มหาวิทยาลัยราชภัฎนครสวรรค์

Read full story

09 February 2009

โรงผลิตปุ๋ยหมัก

0 comments

โรงผลิตปุ๋ยน้ำหมักชีวภาพ

จากการที่บริษัทฯเห็นความสำคัญและสนับสนุนการลดปริมาณการใช้ปุ๋ยและสารเคมีกำจัดศัตรูพืช จึงสนับสนุนให้มีการผลิตน้ำหมักชีวภาพและสารชีวภัณฑ์ต่างๆเพื่อใช้ในการเพาะปลูกภายในสถานีทดลองและแจกจ่ายให้กับเกษตรกร  ทำให้สามารถลดต้นทุนและปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันจึงได้ขยายผลโดยการสร้างโรงผลิตปุ๋ยหมักขึ้นภายในสถานีทดลอง เนื่องจากปัญหาในการกำจัดขยะเศษอาหาร เศษซากผลผลิตทางการเกษตรและของเสียจากกระบวนการผลิต  โดยการรวบรวมของเสียเพื่อใช้ในการผลิตปุ๋ยหมักนั้น จะต้องทำควบคู่ไปกับการรณรงค์ให้แยกขยะภายในโรงงานด้วย เพื่อความสะดวกในการผลิต นอกจากนี้ยังลดปัญหาในการกำจัดขยะประเภทอื่นๆ เนื่องจากขยะรีไซเคิล เช่น กระป๋อง ขวดแก้ว พลาสติก กระดาษ สามารถจำหน่ายออกไปนอกโรงงานได้ ทำให้ปริมาณขยะที่เหลือไว้กำจัดภายในโรงงานลดลงเป็นจำนวนมาก

สูตรการผลิตปุ่ยหมักจากเศษอาหาร
เศษอาหาร 3 ส่วน
กากน้ำตาล 1 ส่วน
น้ำหมักชีวภาพ 1 ส่วน

Read full story

16 January 2009

Available products in Winter 2008-2009

0 comments

แปลงผักอินทรีย์

บลอคโคลี่ ผักบุ้ง ปวยเล้ง DSC00315 มะระ DSC00323

สถานีทดลองได้ทำการเพาะปลูกพืชผักด้วยวิธีทางเกษตรอินทรีย์บนเนื้อที่ 100 ตารางวา ประกอบด้วย บลอคโคลี่ ผักบุ้ง ปวยเล้ง บวบ และมะระ โดยใช้ปุ๋ยคอกและปุ๋ยหมักที่ผลิตได้เองในสถานีทดลอง ผลผลิตที่ได้ในช่วงเริ่มแรกจะไม่ค่อยได้คุณภาพเนื่องจาก มีการระบาดของหนอน หลังจากฉีดพ่นสารสกัดชีวภาพประกอบกับสภาพอากาศที่เย็นทำให้ผลผลิตเริ่มดีขึ้น สามารถเก็บเกี่ยวได้ทุกวันตั้งแต่เดือนธันวาคม 2551

นอกจากนี้ยังมีการทดลองปลูกผักสลัดด้วยระบบไร้ดิน (Soiless culture or Hydroponics) ในโรงเรือน จำนวน 300 ต้น ผลผลิตที่ได้มีความสมบูรณ์ดี

Read full story

05 January 2009

Hydroponics Farm

0 comments

hydroponics

บริษัทฯ ทำการทดลองปลูกพืชไร้ดิน โดยใช้ระบบน้ำหยดในการให้น้ำและสารละลายปุ๋ย โครงสร้างเป็นท่อ PVC ขนาด 6 นิ้วผ่าครึ่ง และเจาะรูด้านล่างเพื่อระบายน้ำ วัสดุปลูกคือขุยมะพร้าว  ผักที่ทำการปลูกได้แก่ ผักสลัดชนิดต่างๆ จำนวน 300 ต้น

Read full story

11 October 2008

น้ำหมักชีวภาพและสารสกัดชีวภาพจากพืชสมุนไพร (3)

0 comments

สูตรกำจัดหนอนและแมลง

หางไหล 3 กิโลกรัม
เปลือกสะเดา 3 กิโลกรัม
หนอนตายหยาก 3 กิโลกรัม
ยาสูบ (ยาเส้น) 0.5 กิโลกรัม
เหล้าขาว 1 ขวด
น้ำส้มสายชู 1 ขวดกระทิงแดง

นำสมุนไพรมาทุบพอแตก เติมเหล้าขาวและน้ำส้มสายชู แล้วเติมน้ำให้ท่วม แล้วเติมกากน้ำตาลประมาณ 2 แก้ว หมักทิ้งไว้ 7 วัน ก็นำไปใช้ อัตรา 30 – 50 ซีซี./น้ำ 20 ลิตร

สูตรป้องกันราหรือไร

หัวเชื้อจุลินทรีย์ 1 ลิตร
กากน้ำตาล 1 ลิตร
ตะไคร้หอม 2 กิโลกรัม
ข่าแก่ 2 กิโลกรัม
ใบและเมล็ดสะเดา 2 กิโลกรัม

นำสมุนไพรมาโขลกให้แหลกพอประมาณ ใส่น้ำลงไปพอคั้นน้ำได้ แล้วคั้นน้ำสมุนไพรให้ได้ปริมาตร 3 ลิตร
นำหัวเชื้อจุลินทรีย์ผสมกากน้ำตาลแล้วผสมกับน้ำสมุนไพร ปิดฝาหมักทิ้งไว้ 3 วัน เมื่อครบกำหนดกรองเอาแต่น้ำ ประมาณ 0.5 ลิตรผสมน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นทุกๆ 3 วัน

สูตรกำจัดเพลี้ยไฟ

ใบยูคาลิปตัส 2 กิโลกรัม
ยอดสะเดา 2 กิโลกรัม
ข่าแก่ 2 กิโลกรัม
บอระเพ็ด 2 กิโลกรัม
หัวเชื้อจุลินทรีย์ 1 แก้ว
กากน้ำตาล 1 แก้ว

นำสมุนไพรแต่ละอย่างมาแยกใส่ปี๊บเติมน้ำให้เต็ม แล้วต้มจนน้ำแห้งเหลือน้ำครึ่งปี๊บ แล้วเทรวมกัน จึงใส่หัวเชื้อจุลินทรีย์ และกากน้ำตาล ปิดฝาหมักทิ้งไว้ 3 วัน จึงนำไปใช้ โดย 250 ซีซี. ต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่น หรือราดในนาข้าว

 

การใช้สารสกัดชีวภาพหรือน้ำหมักชีวภาพ

ควรใช้ร่วมกับปุ๋ยอินทรีย์ชนิดอื่น ๆ เช่น ปุ๋ยหมัก โดยใช้ปุ๋ยหมักคลุกเคล้าลงในดินขณะเตรียมดินปลูก แล้วใช้สารสกัดชีวภาพหรือน้ำหมักชีวภาพเสริมธาตุอาหารให้แก่พืชในขณะที่พืชกำลังเจริญเติบโต

ในการใช้แต่ละสูตรจะใช้ในแต่ละช่วงเวลาของการเจริญเติบโตของ เช่น สูตรฮอร์โมนจะนำไปใช้ในช่วงที่พืชกำลังจะออกดอกออกผล สูตรสมุนไพรจะใช้เฉพาะป้องกันกำจัดโรคและแมลงศัตรูพืชเท่านั้น เพราะฉะนั้นในการใช้จะมีข้อจำกัด โดยเฉพาะสูตรทั่วไปสามารถนำมาผสมกับสูตรฮอร์โมนได้ในการนำไปฉีดพ่นหรือราดลงดิน ส่วนสูตรสมุนไพรควรใช้ต่างหาก ไม่ควรนำมาผสมกับสูตรทั่วไปหรือสูตรฮอร์โมน เพราะในสูตรสมุนไพรจะมีสารออกฤทธิ์ฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ สิ่งที่เราต้องการในสูตรทั่วไปและสูตรฮอร์โมนนั้น นอกจากธาตุอาหารของพืชแล้วเรายังต้องการกลุ่มจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ ถ้าหากนำมาผสมและใช้ร่วมกับสูตรสมุนไพรจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ก็จะโดนทำลาย จุลินทรีย์ที่มีอยู่ในสารสกัดชีวภาพหรือน้ำหมักชีวภาพจะมีประโยชน์เมื่อนำไปฉีดพ่นพืชหรือราดลงในดิน จุลินทรีย์พวกนี้จะทำให้ดินโปร่ง ร่วยซุย และจะไปกำจัดจุลินทรีย์ที่ไม่มีประโยชน์ในดินและบนต้นพืช คือ จุลินทรีย์ก่อโรค นอกจากนั้นจุลินทรีย์ที่มีอยู่ในสารสกัดชีวภาพหรือน้ำหมักชีวภาพยังจะไปกำจัดจุลินทรีย์ที่ไม่มีประโยชน์      (จุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดการเน่าและมีกลิ่นเหม็น) ในฟาร์มของเกษตรกรได้อีกด้วย เช่น ฟาร์มสุกร หรือฟาร์มไก่ที่ส่งกลิ่นเหม็นเป็นมลพิษทางอากาศ เป็นต้น

อ้างอิง : ศูนย์วิจัยเพื่อเพิ่มผลผลิตทางเกษตร คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

Read full story

10 October 2008

น้ำหมักชีวภาพและสารสกัดชีวภาพจากพืชสมุนไพร (2)

0 comments

น้ำหมักชีวภาพ เป็นอีกทางเลือกหนึ่งของเกษตรกรที่สามารถนำมาใช้เป็นปุ๋ย และป้องกันกำจัดศัตรูพืชแทนการใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีกำจัดศัตรูพืชได้ น้ำหมักชีวภาพประกอบด้วยสารอินทรีย์ต่างๆหลายชินด เช่น ฮอร์โมน เอนไซม์ และธาตุอาหารต่างๆ เป็นสารเพิ่มความต้านทานต่อโรคและแมลงให้พืช เอนไซม์บางชนิดจะทำหน้าที่ย่อยอินทรีย์วัตถุให้เป็นอาหารของจุลินทรีย์ และเป็นอาหารของพืช ฮอร์โมนที่จุลินทรีย์สร้างขึ้นก็เป็นประโยชน์กับพืชถ้าให้ในปริมาณเล็กน้อย แต่หากเข้มข้นเกินไปจะทำให้พืชตายได้ ดังนั้น การใช้น้ำหมักชีวภาพจำเป็นต้องให้ในอัตราเจือจาง

น้ำหมักชีวภาพสูตรเร่งการออกดอกและบำรุงราก

ชนิดของน้ำหมักชีวภาพ

อาจแบ่งได้เป็น 3 ประเภทหลักๆ ดังนี้
1) สูตรบำรุงใบและลำต้น ได้จากการหมักพืชและเศษอาหาร ปลา และหอย
2) สูตรบำรุงดอกและผล ได้จากการหมักผลไม้สุกต่างๆ
3) สูตรป้องกันศัตรูพืช ได้จากการหมักพืชสมุนไพรต่างๆ

น้ำหมักชีวภาพสูตรเร่งการเจริญเติบโต

เศษผักชนิดอวบน้ำ 1 ส่วน
ผลไม้สุกทุกชนิด 2 ส่วน
หอยเชอรี่ 1 ส่วน
หัวเชื้อจุลินทรีย์ ร้อยละ 10 ของปริมาตรน้ำหมัก
กากน้ำตาล 1 ส่วน

เตรียมวัสดุหมักตามสูตรกำหนด ถ้าสามารถบดให้ละเอียดได้ยิ่งดี ใส่ลงในถังหมัก เติมกากน้ำตาลเติมน้ำให้พอท่วมวัสดุ แล้วเติมหัวเชื้อจุลินทรีย์ประมาณ ร้อยละ 10 ของปริมาตรน้ำหมัก ผสมให้เข้ากัน ปิดฝาหมักทิ้งไว้ประมาณหนึ่งสัปดาห์ นำไปผสมน้ำหนึ่งต่อหนึ่งพ่นฉีดพ่นสัปดาห์ละครั้ง


น้ำหมักชีวภาพ
สูตรเร่งการออกดอกและบำรุงราก

มะละกอสุก 20 กิโลกรัม
ฟักทองแก่จัด 20 กิโลกรัม
กล้วยน้ำว้าสุก 20 กิโลกรัม
หัวเชื้อจุลินทรีย์ 2 ลิตร
กากน้ำตาล 5 ลิตร
น้ำสะอาด 100 ลิตร

หั่นผลไม้ให้ละเอียดใส่ในถังผสมให้เข้ากันเติมเชื้อจุลินทรีย์และกากน้ำตาล เติมน้ำให้ท่วมคลุกเคล้าให้เข้ากัน ปิดฝาหมักทิ้งไว้ 7-10 วัน จึงนำไปผสมกับน้ำ 1 : 1000 ฉีดพ่นทางใบหรือราดลงดินช่วงที่พืชผักติดดอกสัปดาห์ละครั้ง


น้ำหมักชีวภาพ
สูตรฆ่าเพลี้ยและไรแดง

ใบสาบเสือ 5 กิโลกรัม
ใบน้อยหน่า 5 กิโลกรัม
ใบหรือดอกดาวเรือง 5 กิโลกรัม
ใบสะเดา/เมล็ด 5 กิโลกรัม
โหระพา 2 กิโลกรัม
กระเทียม 1 กิโลกรัม

โขลกส่วนผสมหรือทุบให้แตก หมักในถังที่มีส่วนผสมของเหล้าขาว 40 ดีกรี (หรือใช้เอทานอล 70% เจือจาง) และน้ำส้มสายชู 5% อัตราส่วน 2 : 1 ให้ท่วมวัสดุหมักแล้วเติมหัวเชื้อจุลินทรีย์ร้อยละ 10 ของปริมาตรน้ำหมัก หมักทิ้งไว้อย่างน้อย 1 คืน

วิธีใช้ผสมสารสกัดกับน้ำอัตราส่วน 1 : 5 และเติมน้ำสบู่เหลว (สารจับใบ) เล็กน้อย แล้วนำไปฉีดพ่นทุกๆ 3 วัน

 

น้ำหมักชีวภาพสูตรกำจัดหนอนกัดกินใบและหนอนใยผัก

ใบสะเดา 2 ส่วน
ตะไคร้หอม 2 ส่วน
ขมิ้นชัน 1 ส่วน
ข่าแก่ 1 ส่วน

โขลกวัสดุให้แหลก หมักผสมกับน้ำ 8 ส่วนทิ้งไว้ 1 คืนจึงนำไปฉีดพ่น

 

น้ำหมักชีวภาพสูตรควบคุมหนอน แมลงวันและด้วงเต่าแตง

ขี้เถ้าไม้ และปูนขาวอย่างละ 1 กิโลกรัม ผสมน้ำ 8 ลิตรทิ้งไว้ให้ตกตะกอนประมาณ 1 คืน นำไปฉีดพ่นทุก 5 วัน

 

ในการปลูกแตงกวา สามารถใช้น้ำหมักชีวภาพสูตรต่างๆเพื่อป้องกันเพลี้ยไฟ (Haplotrips floricola) เพลี้ยอ่อน (Aphids gossypii)  ไรแดง (Tetramychus spp.)  เต่าแตงแดงและเต่าแตงดำ
สำหรับโรคราน้ำค้าง ใบด่าง ผลเน่า จะใช้บาซิลลัส ซับทิลิส (Bacillus subtilis : BT) หมักกับกากน้ำตาลเติมอากาศขยายเพิ่มจำนวน ฉีดพ่นทุกสัปดาห์

 

ประโยชน์ของการใช้น้ำหมักชีวภาพ

1) ลดค่าใช้จ่ายและต้นทุนในการเพาะปลูก
2) ผลผลิตปราศจากสารเคมีตกค้าง ปลอดภัยต่อการบริโภค
3) ช่วยปรับสภาพของดินให้ดีขึ้น ดินโปร่ง ร่วนซุย และลดการเสื่อมสภาพของดิน
4) ช่วยในการย่อยสลายอินทรีย์สารในดินได้ดีและเร็วขึ้น

link_icon สูตรการขยายเชื้อแบคทีเรีย B. subtilis (บาซิลลัส ซับทิลีส)

Read full story

09 October 2008

น้ำหมักชีวภาพและสารสกัดชีวภาพจากพืชสมุนไพร (1)

0 comments

น้ำหมักชีวภาพเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งของเกษตรอินทรีย์ ซึ่งผลิตได้จากการนำเอาเศษวัสดุเหลือทิ้ง เช่น เศษพืชผัก หรือ สัตว์ที่ยังสดอยู่ มาหมักให้เกิดการย่อยสลายโดยจุลินทรีย์ที่ติดมากับวัตถุดิบหรือจุลินทรีย์ที่เติมลงไปโดยใช้กากน้ำตาลเป็นสารอาหารสำหรับจุลินทรีย์ จนได้ผลิตภัณฑ์เป็นของเหลวประกอบไปด้วยกรดอินทรีย์ กรดอะมิโน กรดฮิวมิก วิตามิน แร่ธาตุ และฮอร์โมนพืช ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้พืชเจริญเติบโตได้ดี ดังนั้นเกษตรกรส่วนใหญ่จึงเรียกน้ำหมักชีวภาพว่า “ปุ๋ยอินทรีย์น้ำ”
         

การทำน้ำหมักชีวภาพ

การทำน้ำหมักชีวภาพโดยใช้วัสดุเหลือทิ้งจากการเกษตรมีส่วนประกอบดังนี้ เศษผักและเศษผลไม้ต่างๆ เศษปลา เศษหอย กากน้ำตาล (ใช้น้ำตาลทรายแดงแทนก็ได้) และหัวเชื้อจุลินทรีย์

(1) น้ำหมักชีวภาพจากพืช

นำเศษผักหรือผลไม้ที่สับ หรือบดให้ละเอียดผสมกับกากน้ำตาลอัตราส่วนประมาณ 3 ต่อ 1 คลุกให้เข้ากันใส่ในถังหรือโอ่งที่มีฝาปิดมิดชิด แล้วเติมหัวเชื้อจุลินทรีย์ประมาณ 1 ต่อน้ำหมัก 1 ใบ ประมาณ 20 กิโลกรัม คนให้เข้ากัน เพื่อเร่งอัตราการย่อยสลาย ใช้ของหนักกดทับ โดยปล่อยทิ้งไว้ประมาณ 10 – 15 วัน ถ้าเป็นฤดูร้อนอาจใช้เวลาสั้นกว่านี้ จะได้น้ำหมักเป็นของเหลวข้น

เมื่อต้องการใช้นำไปผสมน้ำอัตราส่วน 1 : 500 หรือ 1 : 1000 สามารถใช้รดโคนต้น หรือฉีดพ่นทางใบ ถ้ามีการใช้ร่วมกับการใช้ปุ๋ยอินทรีย์จะช่วยเร่งการเจริญเติบโตของพืชได้ดี

(2) การทำน้ำหมักชีวภาพจากเศษปลา

นำเศษปลาสดผสมกับกากน้ำตาลอัตราส่วน 2 ต่อ 1 ให้ได้ปริมาณ 30 กิโลกรัมและหัวเชื้อจุลินทรีย์ 1 ลิตรหมักใส่ในถังปิดฝาให้สนิทประมาณ 20 – 30 วัน ถ้าจะป้องกันการเน่าเหม็นอาจใช้น้ำผลไม้รสเปรี้ยว เช่น มะนาว หรือใช้เศษเปลือกสับปะรด เพราะกรดจากผลไม้ช่วยให้ค่าความเป็นกรดด่างลดลงป้องกันไม่ให้เกิดการเน่าเหม็น ส่วนสับปะรดมีเอนไซม์ (น้ำย่อย) ช่วยเร่งการย่อยสลายโปรตีนจากปลา

เมื่อต้องการนำไปใช้ให้ผสมน้ำอัตราส่วน 1 : 1000 ฉีดพ่นทางใบทุกๆ 1 สัปดาห์ หรือ 1 : 500 รดโคนต้นไม้ 2 – 3 เดือนครั้ง

 

ข้อควรพิจารณาในการทำน้ำหมักชีวภาพ

1)ความเป็นกรด ด่าง หลังสิ้นสุดกระบวนการหมัก ควรอยู่ระหว่าง 3 – 4 ถ้าไม่นำไปใช้ค่าจะเพิ่มขึ้น 4 – 4.8
2)มีค่าการนำไฟฟ้าซึ่งแสดงถึงความเข้มข้นของปริมาณธาตุอาหาร ยิ่งสูงยิ่งมีแร่ธาตุมาก
3)กรดฮิวมิกซึ่งมีคุณสมบัติคล้ายกับฮอร์โมนพืช ถ้าเป็นน้ำหมักชีวภาพจากพืชมีค่าระหว่าง 0.5 – 1.0 %
4)กรดอินทรีย์ เช่น กรดแลกติก กรดแอซิติก ซึ่งมีประโยชน์ช่วยควบคุมการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ที่ทำให้เน่าเสีย ยับยั้งกิจกรรมจุลินทรีย์ที่เปลี่ยนรูปไนโตรเจนเป็นแอมโมเนีย และช่วยละลายสารประกอบอนินทรีย์ของแร่ธาตุบางชนิด เช่น แคลเซียมฟอสเฟต

Read full story

08 October 2008

เทคนิคการเพาะเลี้ยงจุลินทรีย์

0 comments

เชื้อจุลินทรีย์คือกุญแจสำคัญของระบบนิเวศ การทำการเกษตรจำเป็นต้องอาศัยกิจกรรมของ จุลินทรีย์ที่ช่วยย่อยสลายอินทรียวัตถุให้เป็นแร่ธาตุอาหาร ซึ่งต้องให้อยู่ในรูปสารอนินทรีย์เพื่อจะละลายน้ำได้ง่ายและพืชสามารถดูดซึมเอาไปใช้ได้ทันที แต่ผลจากการทำการเกษตรที่ไม่ถูกวิธี คือ การเผาเศษพืช การใช้ปุ๋ยเคมีเป็นเวลานานติดต่อกัน ประกอบกับประเทศไทยตั้งอยู่ในเขตร้อนชื้นการสลายตัวของอินทรียวัตถุเป็นไปอย่างรวดเร็ว ส่งผลทำให้ดินเสื่อมคุณภาพและปริมาณจุลินทรีย์ที่อาศัยอยู่ในดินน้อยลง จนไม่สามารถสร้างความสมดุลให้กับระบบนิเวศในดินได้

การนำเอาหัวเชื้อจุลินทรีย์ที่เป็นผลงานจากหน่วยงานทางราชการพัฒนาคิดค้นขึ้นใช้ในการปรับปรุงดินจึงเป็นแนวทางที่ช่วยเร่งการฟื้นฟูสภาพดินได้เร็วขึ้น แต่การใช้หัวเชื้อจุลินทรีย์ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในรูปผง หรือเป็นหัวเชื้อเข้มข้นที่บรรจุในขวดมีอายุการผลิตหลายสัปดาห์หรือหลายเดือนมาแล้ว จะทำให้มีปริมาณจุลินทรีย์ต่ำกว่าที่ควรจะเป็นเนื่องจากจุลินทรีย์จะตายระหว่างการเก็บรักษาและรอจำหน่าย ดังนั้นจึงจำเป็นต้องเพาะเลี้ยงขยายหัวเชื้อจุลินทรีย์เพื่อเพิ่มจำนวนมีปริมาณมากๆและเป็นการฟื้นฟูกำลังจุลินทรีย์ให้มีความแข็งแรง เมื่อนำไปใช้ทั้งใช้เร่งในกองปุ๋ยหมัก หรือราดลงดินก็พร้อมจะมีกิจกรรมได้ทันที

 

วิธีการเพาะเลี้ยงหัวเชื้อจุลินทรีย์

วัสดุและอุปกรณ์
1)กากน้ำตาลปริมาณ 100 ลิตร (สามารถใช้น้ำตาลทรายแดงแทนได้ น้ำหนักประมาณ 50 กิโลกรัม)
2)หัวเชื้อจุลินทรีย์ของ พด. 20 ถุง หรือ อีเอ็ม 20 ลิตร
3)ถังหมักขนาด 150 ลิตร จำนวน 10 ใบ
4)ปั้มลมให้อากาศ สามารถใช้ปั้มลมที่ใช้กับตู้ปลาก็ได้ โดยต่อสายยางแยกใช้หัวทรายพ่นให้อากาศแก่จุลินทรีย์ในถังให้ครบ 10 ใบ

วิธีการ
1)เติมน้ำสะอาดลงในถังขนาด 150 ลิตร ให้ได้ปริมาณประมาณ 3 ใน 4 ของความสูงถังหรือประมาณ 100 - 120 ลิตร
2)เติมน้ำตาลหรือกากน้ำตาลประมาณ 10% - 15% ของปริมาตรน้ำ
3)เทหัวเชื้อจุลินทรีย์ 1 ขวด หรือ 1 ลิตร หรือ 1 ซองลงในถัง กวนผสมให้เข้ากัน
4)ต่อสายยางท่อให้อากาศจากปั้มลม โดยให้อากาศอย่างต่อเนื่องผ่านหัวทรายเป็นเวลา 5 – 7 วัน เชื้อจุลินทรีย์จะขยายเพิ่มจำนวนพร้อมนำเอาไปใช้

หัวเชื้อจุลินทรีย์
หัวเชื้อจุลินทรีย์ที่เลี้ยงได้ 3 วัน

 

การนำเชื้อจุลินทรีย์ไปใช้

ใช้เป็นหัวเชื้อในการทำปุ๋ยหมักโดยการราดลงบนกองปุ๋ยระหว่างที่มีการคลุกผสมวัสดุต่างๆให้เข้ากัน หรือนำไปผสมกับกากน้ำตาล 1 ลิตรใช้น้ำ 20 ลิตร แล้วใช้หัวเชื้อเจือจางให้ได้อัตราส่วน 1 : 500 เพื่อราดลงดิน

หัวเชื้อจุลินทรีย์ที่เพาะเลี้ยงขยายไว้นี้สามารถใช้เป็นหัวเชื้อในการทำน้ำหมักชีวภาพได้อีกด้วย โดยใช้เติมลงในถังน้ำหมักชีวภาพถังละ 1 ลิตร

Read full story

04 October 2008

การปรับปรุงคุณภาพดินสู่ระบบเกษตรอินทรีย์ (6)

0 comments

 

ปุ๋ยหมัก

ปุ๋ยหมัก เป็นปุ๋ยอินทรีย์ชนิดหนึ่งที่ได้จากการนำเอาวัสดุอินทรีย์ที่เหลือทิ้งในไร่นามาหมักรวมกันแล้วปรับสภาพให้เกิดการย่อยสลายโดยอาศัยกิจกรรมของจุลินทรีย์

การใช้ปุ๋ยหมักในแปลงเกษตรอินทรีย์มีประโยชน์หลายประการดังนี้
(1) เพิ่มปริมาณอินทรียวัตถุให้แก่ดินและเพิ่มปริมาณธาตุอาหารให้แก่พืช
(2) ช่วยรักษาความอุดมสมบูรณ์ให้แก่ดิน โดยธาตุอาหารพืชค่อยละลายออกมา
(3) ช่วยปรับโครงสร้างดิน โดยดินเหนียวจะมีความร่วนซุย และดินทรายมีการยึดเกาะกันมากขึ้น ทำให้ดินมีความสามารถในการอุ้มน้ำในสภาพที่เหมาะสมแก่พืช
(4) เป็นแหล่งอาหารแก่จุลินทรีย์ที่อาศัยอยู่ในดินและช่วยเพิ่มปริมาณจุลินทรีย์ ทำให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์มากขึ้น

การทำปุ๋ยหมักที่ปล่อยให้เกิดการย่อยสลายตามธรรมชาติใช้เวลานานอาจถึง 3 เดือน ซึ่งปัจจุบันมีหน่วยงานต่างๆ ของทางราชการหลายหน่วยได้คิดค้นหัวเชื้อจุลินทรีย์ใช้เป็นตัวเร่งการย่อยสลาย เช่น กรมพัฒนาที่ดิน มีหัวเชื้อชื่อ “สารเร่ง พด.” หัวเชื้อจุลินทรีย์ของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ เป็นต้น โดยหัวเชื้อนี้ประกอบด้วยจุลินทรีย์หลายชนิด ทั้งเชื้อรา แบคทีเรีย และแอคติโนมัยซีส

หัวเชื้อที่เป็นตัวเร่งในการทำปุ๋ยหมัก มี 2 แบบ คือ
1) แบบแห้ง สามารถโรยใส่กองปุ๋ยหมักตามคำแนะนำข้างซอง
2) หัวเชื้อที่เป็นของเหลว ควรทำการขยายหัวเชื้อด้วยการเลี้ยงในกากน้ำตาลผสมน้ำอัตราส่วนกากน้ำตาล 1 ส่วนต่อน้ำ 20 ส่วนโดยใช้หัวเชื้อ 2 ลิตรใส่ในถังขยาย 100 ลิตร หมักทิ้งไว้ด้วยการให้อากาศผ่านปั้มลมประมาณ 4-5 วัน

 

การทำปุ๋ยหมักจากเศษมะเขือม่วง

เนื่องจากในกระบวนการคัดแยกมะเขือม่วงเพื่อใช้ในการแปรรูป จะมีมะเขือม่วงบางส่วนที่ไม่ผ่านมาตรฐาน จึงสามารถนำมาใช้ทำปุ๋ยหมัก เพื่อลดปริมาณขยะ และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับขยะมะเขือม่วงได้

การทำปุ๋ยหมัก 1,000 กิโลกรัม (1 ตัน) มีส่วนผสมดังนี้

1. เศษมะเขือม่วงสับหรือบดให้แหลก 600 กิโลกรัม
2. ปุ๋ยคอก (ขี้วัว)         300 กิโลกรัม
3. รำอ่อน 2 กระสอบ     (50 กิโลกรัม)
4. โดโลไมท์                  50 กิโลกรัม

วิธีการทำปุ๋ยหมักให้คลุกส่วนผสมทั้งหมดเข้าด้วยกันแล้วราดหัวเชื้อจุลินทรีย์ที่เลี้ยงขยายโดยผสมกากน้ำตาลเจือจาง 1 ลิตร ต่อ น้ำ 50 ลิตร เพื่อให้จุลินทรีย์ไปช่วยย่อยสลายอินทรียวัตถุให้มีขนาดเล็กลง สามารถปลดปล่อยธาตุอาหารให้ต้นพืชเอาไปใช้ได้ กลับกองปุ๋ยสัปดาห์ละครั้ง ใช้เวลาหมักประมาณ 1 เดือน ก็ใช้ได้ เมื่อนำปุ๋ยหมักอินทรีย์ไปใส่ในแปลงปลูกอินทรีย์วัตถุทั้งหลายจะถูกย่อยสลายและเปลี่ยนเป็นฮิวมัส ซึ่งเป็นแหล่งธาตุไนโตรเจนพืช ขี้วัวจะให้ธาตุอาหารพวกฟอสฟอรัส และโพแทสเซียม ส่วนโดโลไมท์ เป็นแหล่งธาตุอาหารรอง ได้แก่ แคลเซียม และแมกนีเซียม

 

โรยโดโลไมท์ กลับกองปุ๋ยหมัก
(ซ้าย) กองปุ๋ยหมักที่โรยด้วยโดโลไมท์
(ขวา) การกลับกองปุ๋ยหมักจากเศษมะเขือ

การดูแลกองปุ๋ยหมัก

(1)กองปุ๋ยหมักที่ทำไว้ทั้งกลางแจ้งและในโรงเรือนควรรักษาความชื้นให้พอเหมาะ มีวิธีทดสอบง่ายๆ คือ ใช้มือล้วงแล้วบีบเนื้อปุ๋ยเกาะติดกันโดยน้ำไม่ซึมหยดออกจากง่ามนิ้วมือ ถ้าไม่เกาะติดกันแสดงว่าความชื้นน้อยต้องรดน้ำ แต่ถ้าน้ำซึมออกมามากความชื้นมากเกิน ซึ่งทั้งสภาพ 2 แบบจะทำให้การย่อยสลายของกองปุ๋ยช้ากว่าปกติ นอกจากนี้ควรกลับกองปุ๋ยทุกๆ 7-10 วัน เพื่อเป็นการระบายความร้อน และยังเติมอากาศให้กับจุลินทรีย์กลุ่มที่ต้องการอากาศอีกด้วย
(2) กองปุ๋ยหมักกลางแจ้งควรระวังเรื่องฝนที่ตกลงมาชะล้างธาตุอาหาร
(3) เมื่อจะนำเอาปุ๋ยหมักไปใช้ควรให้อุณหภูมิกองปุ๋ยเย็นลงพอๆกับอุณหภูมิภายนอก หรือสีของปุ๋ยคล้ำเป็นสีน้ำตาล จึงค่อยนำเอาไปใช้

 

การใช้ปุ๋ยหมัก

เมื่อปุ๋ยหมักผ่านกระบวนการหมักจนได้ที่แล้ว การนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์กับพืชนั้นควรดูลักษณะของดินด้วย กรณีที่ดินไม่มีความอุดมสมบูรณ์ขาดอินทรีย์วัตถุ แร่ธาตุอาหารน้อย ดังภาพ จะรวมกันเป็นก้อนแข็งไม่ร่วนซุย สีซีดจาง ดังนั้นควรใช้วิธีใส่ปุ๋ยหมักรองพื้นก่อนปลูกพืช อัตราส่วน 2 ตันต่อไร่ แล้วไถคลุกกับดินทิ้งไว้ประมาณ 2 สัปดาห์ เพื่อให้มีการปลดปล่อยแร่ธาตุอาหารพืช หลังจากนั้นจึงค่อยปลูกพืช และมีการใส่ปุ๋ยหมักเป็นระยะๆ ร่วมกับการใช้ปุ๋ยอินทรีย์น้ำ (น้ำหมักชีวภาพ) ฉีดพ่นทางใบ วิธีนี้พืชจะตอบสนองต่อแร่ธาตุอาหารได้ดีและเจริญเติบโตดี

ดินขาดอินทรีย์วัตถุ

Read full story

03 October 2008

การปรับปรุงคุณภาพดินสู่ระบบเกษตรอินทรีย์ (5)

0 comments

วิธีการปรับปรุงคุณภาพดิน

ผลกระทบจากการใช้สารเคมีทางการเกษตรนอกจากจะก่อให้เกิดสารพิษตกค้างในผลิตผลการเกษตรซึ่งเป็นอันตรายโดยตรงต่อผู้บริโภคแล้วยังสะสมสารพิษในดินจนดินเสื่อมสภาพ สิ่งมีชีวิตในดินถูกทำลาย หรือเรียกว่า “ดินตาย” ดังนั้นการปรับปรุงคุณภาพดินให้มีชีวิตโดยการพึ่งพาธรรมชาติหรือเลียนแบบวิธีธรรมชาติด้วยการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยชีวภาพ หรืออินทรียวัตถุ เพื่อปรับปรุงโครงสร้างของดินให้เกิดความสมดุลดังมีรายละเอียดต่อไปนี้

ปุ๋ยคอก

ปุ๋ยคอกเป็นแหล่งธาตุอาหารของพืชที่หาได้ง่ายและราคาถูก เนื่องจากเกษตรกรไทยส่วนใหญ่นิยมเลี้ยงสัตว์ควบคู่ไปกับการปลูกพืช โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเลี้ยง โค กระบือ ไก่ เป็ด และสุกร ทำให้ได้มูลสัตว์เป็นจำนวนมาก เมื่อนำมาผ่านกระบวนการหมักแล้ว สามารถนำเอาไปใช้ในพื้นที่แปลงเกษตรกรได้ทันที ในปุ๋ยคอกมีจุลินทรีย์ อินทรีย์วัตถุ วิตามิน และฮอร์โมนพืชบางชนิด แต่เมื่ออินทรียวัตถุถูกจุลินทรีย์ย่อยสลายแล้ว ทำให้ธาตุอาหารบางส่วนละลายไปกับน้ำและบางส่วนระเหยเป็นก๊าซ เช่น คาร์บอนไดออกไซด์ หรือไนโตรเจนเปลี่ยนอยู่ในรูปก๊าซแอมโมเนียที่มีกลิ่นฉุน ในปุ๋ยคอกแต่ละชนิดมีธาตุอาหารพืชไม่เท่ากันขึ้นอยู่กับชนิดของสัตว์

ปริมาณธาตุอาหารหลักของพืชในปุ๋ยคอกแต่ละชนิด

ชนิดของปุ๋ยคอก    ไนโตรเจน (%)    ฟอสฟอรัส (%)    โพแทสเซียม (%)

มูลโค                     1.91                    0.56                    1.40

มูลกระบือ                1.23                    0.69                    1.66

มูลไก่                     3.77                    1.89                    1.76

มูลเป็ด                    2.15                    1.33                    1.15

มูลสุกร                   3.11                  12.20                    1.84

มูลค้างคาว              5.28                     8.42                   0.58

การใช้ปุ๋ยคอกมีข้อดี คือ เป็นวัสดุอินทรีย์ที่หาได้ง่ายในท้องถิ่น มีราคาถูก แต่การนำเอาปุ๋ยคอกไปใส่ให้กับต้นพืชโดยตรงอาจเป็นอันตรายแก่พืชได้ เนื่องจากความร้อนที่เกิดขึ้นจากการหมักในดินและแรงดันออสโมติก เนื่องมาจากความเข้มของแร่ธาตุทำให้ต้นพืชสูญเสียน้ำทางราก และเหี่ยวเฉาตายในที่สุด ดังนั้นควรนำปุ๋ยคอกมาหมักให้เกิดการย่อยสลาย และไม่มีความร้อนหลงเหลืออยู่ นอกจากนี้ระหว่างการหมักปุ๋ยคอกความร้อนที่เกิดขึ้นสูงถึง 70 องศาเซลเซียสจะช่วยกำจัดจุลินทรีย์ก่อโรคที่ติดมากับมูลสัตว์ได้อีกด้วย จึงเป็นการลดความเสี่ยงการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์ในผลิตผลการเกษตร โดยเฉพาะพวกผักสดต่างๆ ซึ่งมักประสบปัญหาเมื่อส่งออกแล้วตรวจพบเชื้อก่อโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร ทำให้ต่างประเทศลดความน่าเชื่อถือ การใช้ปุ๋ยคอกและอินทรียวัตถุเพื่อปรับปรุงโครงสร้างดินอาจใช้ได้ตั้งแต่ 1 – 3 ตันต่อไร่ต่อครั้ง

ไถดินตากแล้วนำเศษพืชมาโรย ใช้แกลบเหลืองและปุ๋ยคอกโรยซ้ำ

(ซ้าย)หลังจากไถดินตากแล้วนำเศษพืชมาโรย
(ขวา)ใช้แกลบเหลืองและปุ๋ยคอกโรยซ้ำ แล้วจึงไถคลุกผสมพร้อมกับราดนำหมักจุลินทรีย์ เพื่อช่วยปรับปรุงโครงสร้างดินก่อนปลูกพืช

 

ปุ๋ยพืชสด

ปุ๋ยพืชสดเป็นปุ๋ยอินทรีย์ชนิดหนึ่งที่ได้จากการไถกลบหรือตัดสับต้นพืชลงในดินขณะที่กำลังมีการออกดอกเพราะมีธาตุอาหารสมบูรณ์และได้น้ำหนักสดมาก หลังจากนั้นปล่อยให้เกิดการย่อยสลายตามธรรมชาติ ก็จะได้ธาตุอาหารสำหรับพืชที่จะปลูกต่อไป ในการปลูกพืชสำหรับเป็นปุ๋ยพืชสดนิยมพืชตระกูลถั่วมากที่สุดเพราะ ปลูกง่าย โตเร็ว มีราก ใบ ลำต้นมากและมีการสลายตัวเร็ว ถั่วที่นิยมใช้เป็นปุ๋ยพืชสด ได้แก่ ปอเทือง โสนอัฟริกัน โสนไต้หวัน โสนคางคก ถั่วที่ปกคลุมดินช่วยปราบวัชพืช ต้นและใบร่วงเป็นปุ๋ยบำรุงดิน เช่น ถั่วพร้า ถั่วลาย ถั่วอัญชัน เป็นต้น

ถั่วพร้าเจริญเติบโตคลุมวัชพืช ถั่วเขียวกำลังออกดอกพร้อมจะไถกลบ

(ซ้าย) ถั่วพร้าเจริญเติบโตคลุมวัชพืช
(ขวา) ถั่วเขียวกำลังออกดอกพร้อมจะไถกลบ

การนำเอาพืชตระกูลถั่วมาเพาะปลูกเป็นปุ๋ยพืชสดมีข้อพิจารณาดังนี้
(1)ลักษณะของดิน ต้องปรับให้เหมาะสม เช่น ถ้าดินเปรี้ยวควรใส่ปูน
(2)ฤดูกาลที่เหมาะสมควรเป็นต้นฤดูฝนประมาณเดือนพฤษภาคม ก่อนการปลูกพืชหลักประมาณ 3 เดือน หรือปลายฤดูฝน หลังการเก็บเกี่ยวพืชหลัก โดยที่ดินยังมีความชื้นอยู่
(3)วิธีการปลูกมี 3 วิธี คือการโรยเมล็ดเป็นแถว หยอดเป็นหลุม และหว่าน ซึ่งควรไถดะก่อนหว่านเมล็ดแล้วคราดกลบ

การใช้ปุ๋ยพืชสดจะเป็นการเพิ่มปริมาณอินทรียวัตถุ แร่ธาตุและความอุดมสมบูรณ์แก่ดินในเวลารวดเร็ว

วิธีการใช้ปุ๋ยพืชสดทำได้ดังนี้
(1)การตัดสับและไถกลบควรทำในช่วงที่พืชมีธาตุไนโตรเจนและน้ำหนักสดสูงสุดเมื่อเริ่มออกดอกและบานเต็มที่
(2)การปลูกพืชปุ๋ยพืชสดในพื้นที่ขนาดใหญ่ใช้วิธีหว่านเมล็ดประมาณ 3 – 4 กิโลกรัมต่อไร่ และไถกลบก่อนปลูกพืชหลัก
(3)การปลูกแซมระหว่างร่องปลูกพืชหลักให้ปลูกเมื่อพืชหลักโตเต็มที่แล้วเพื่อป้องกันการแย่งธาตุอาหาร
(4)กรณีที่เกษตรกรมีพื้นที่ว่างเปล่าตามหัวไร่ปลายนาควรปลูกพืชปุ๋ยพืชสดแล้วตัดเอามาใส่ในแปลงปลูกพืชหลักและไถกลบ

Read full story

02 October 2008

การปรับปรุงคุณภาพดินสู่ระบบเกษตรอินทรีย์ (4)

0 comments

แหล่งน้ำและระบบน้ำสำหรับเกษตรอินทรีย์

การจัดหาแหล่งน้ำสำหรับเกษตรอินทรีย์ถ้าเป็นแหล่งน้ำจากแม่น้ำ หรือระบบชลประทานอาจมีสารเคมีปนเปื้อน และอาจทำให้ไม่ผ่านการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ อย่างไรก็ตามเกษตรกรไทยโดยเฉพาะทางภาคเหนือส่วนใหญ่ มีพื้นที่ทำกินอยู่นอกเขตชลประทานและพื้นที่เป็นภูเขาสูง จึงสามารถสร้างแหล่งเก็บน้ำฝนไว้ใช้ในแปลงเกษตรอินทรีย์ของตนเองโดยอาจทำได้ดังนี้

(1) บริเวณพื้นที่แปลงเกษตรอินทรีย์เป็นภูเขา
ให้ทำการกันพื้นที่ป่าส่วนหนึ่งไว้เป็นพื้นที่รับน้ำฝน และทำคันดินยกสูงกั้นเพื่อกักเก็บน้ำฝนบริเวณที่ลุ่มต่ำเป็นอ่างกักเก็บน้ำไว้ใช้ ซึ่งถ้ามีขนาดพื้นที่ 2-3 ไร่ และลึก 2-3 เมตร สามารถจุน้ำไว้ใช้ในแปลงเกษตรอินทรีย์พื้นที่ไม่เกิน 10 ไร่ ได้ตลอดทั้งปี

(2) บริเวณแปลงเกษตรมีลำห้วยหรือลำธารตามธรรมชาติขนาดเล็กๆไหลผ่าน
ให้ทำการสร้างฝายต้นน้ำขนาดเล็กหรือฝายแม้ว อาจใช้วัสดุในท้องถิ่น เช่น ไม้ ทราย หิน มากั้น รวมทั้งไม้น้ำที่ชอบขึ้นตามลำห้วยมาปักชำเรียงแนวขวางลำห้วยไว้ วิธีนี้ถ้าลำห้วยกว้างประมาณ 5 เมตร และคันฝายสูงประมาณ 1 เมตร ฝายแม้วจะกักเก็บน้ำไว้ได้ประมาณ 500 ลูกบาศก์เมตร สามารถสร้างความชุ่มชื้นให้กับพื้นที่และอาศัยแหล่งน้ำไว้ในการเกษตรได้ แต่ที่สำคัญฝายแม้วช่วยชะลอกระแสน้ำความแรงของน้ำไม่ให้ชะล้างอินทรีย์วัตถุและหน้าดินไหลไปกับกระแสน้ำ

(3) กรณีพื้นที่ทำแปลงเกษตรเป็นพื้นที่ราบ
ให้ทำการขุดสระเก็บน้ำขนาด 2 -3 ไร่ ลึกประมาณ 4 เมตร วิธีนี้อาจสิ้นแปลงค่าใช้จ่ายสูงกว่า 2 วิธีที่กล่าวมา แต่มีข้อดีคือ สามารถใช้ประโยชน์จากสระเก็บน้ำได้หลากหลาย เช่น การเลี้ยงปลาในบ่อ หรือสร้างเล้าไก่บนบ่อ ส่วนคันดินขอบบ่อสามารถปลูกพืชผักสมุนไพร กล้วยหรือไม้ผลยืนต้น การนำเอาน้ำในสระไปใช้ทำได้โดยการสูบขึ้นถังเก็บแล้วปล่อยไหลตามท่อเป็นระบบสปริงเกลอร์ การทำระบบน้ำด้วยวิธีนี้มีความสะดวกในการให้น้ำแก่พืช และประหยัดน้ำได้มาก

Read full story

01 October 2008

การปรับปรุงคุณภาพดินสู่ระบบเกษตรอินทรีย์ (3)

0 comments

การทำเกษตรอินทรีย์เป็นระบบเกษตรที่เน้นความสมดุลของระบบนิเวศน์ อาศัยการเกื้อกูลกันของสิ่งมีชีวิตทั้งในดินและสภาพแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งจุลินทรีย์ในดินมีบทบาทสำคัญในการย่อยสลายอินทรียวัตถุให้เป็นแร่ธาตุแก่พืช


บำรุงดินด้วยอินทรีย์วัตถุ

คุณสมบัติของดิน

การปรับปรุงคุณภาพดินให้มีความอุดมสมบูรณ์จึงจำเป็นต้องศึกษาคุณสมบัติของดินก่อนซึ่งจะต้องประกอบไปด้วยคุณสมบัติ 3 ด้าน

(1) สมบัติทางเคมี คือดินต้องมีความสมดุลของแร่ธาตุอาหาร ประกอบด้วยธาตุอาหารหลักได้แก่ ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียม ธาตุอาหารรองได้แก่ แคลเซียม แมกนีเซียม กำมะถัน ธาตุอาหารเสริม ได้แก่ เหล็ก สังกะสี ทองแดง โบรอน โมลิบดินัม แมงกานีส และคลอรีน โดยดินมีค่าความเป็นกรด-ด่างระหว่าง 6.5 – 7.0

(2) สมบัติทางกายภาพ คือดินต้องมีความสมดุลของอากาศ น้ำ กล่าวคือ ดินต้องมีโครงสร้างที่ดี ร่วนซุย อากาศถ่ายเทได้ดี มีความสามารถในการอุ้มน้ำได้ดี เพื่อช่วยให้รากพืชสามารถแผ่ขยายและชอนไชไปหาแร่ธาตุอาหารได้ง่ายในระยะที่กว้าง ไกล

(3) สมบัติทางชีวภาพ คือดินที่มีความสมดุลของสิ่งมีชีวิตในดิน ทั้งไส้เดือน และ จุลินทรีย์ซึ่งจะทำหน้าที่ย่อยสลายอินทรียวัตถุในดินให้อยู่ในรูปที่พืชนำเอาไปใช้ประโยชน์ได้ จุลินทรีย์บางชนิดสามารถตรึงไนโตรเจนจากอากาศให้เป็นประโยชน์แก่พืชได้ เช่น ไรโซเบียม นอกจากนี้ยังสร้างสารปฏิชีวนะช่วยป้องกัน กำจัดศัตรูพืชในดินได้อีกด้วย

การปรับปรุงดินด้วยพืชตระกูลถั่ว

การปรับปรุงดินในระบบเกษตรอินทรีย์

การปรับปรุงดินเพื่อสร้างความสมดุลให้แก่ดินโดยมีสมบัติที่ดีทั้งด้าน เคมี กายภาพและทางชีวภาพดังที่กล่าวมา มีข้อพิจารณาดังนี้

สิ่งที่อนุญาตให้ใช้ปรับปรุงดิน

(1) ปุ๋ยอินทรีย์ที่ผลิตจากวัสดุในไร่นา เช่น ปุ๋ยหมักจากเศษพืช ฟางข้าว ขี้เลื่อยเปลือกไม้ เศษไม้ และวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรอื่นๆ

(2) ปุ๋ยคอกจากสัตว์ที่เลี้ยงตามธรรมชาติ ไม่ใช้อาหารจากสิ่งมีชีวิตที่ผ่านการตัดแต่งพันธุกรรม (GMO) ไม่ใช้สารเร่งการเจริญเติบโต และไม่มีการทรมานสัตว์

(3) ปุ๋ยพืชสด เศษซากพืชและวัสดุเหลือใช้ในไร่นาในรูปอินทรีย์สาร

(4) ดินพรุที่ไม่เติมสารสังเคราะห์

(5) ปุ๋ยชีวภาพและจุลินทรีย์ที่พบทั่วไปตามธรรมชาติ

(6) ปุ๋ยอินทรีย์และสิ่งขับถ่ายจากไส้เดือนดินและแมลง

(7) ดินอินทรีย์ที่ได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการ

(8) ดินชั้นบน (หน้าดิน) ที่ปลอดจากการใช้สารเคมีมาแล้วอย่างน้อย 1 ปี

(9) ผลิตภัณฑ์จากสาหร่ายและสาหร่ายทะเลที่ได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการ

(10) ปุ๋ยอินทรีย์น้ำที่ได้จากพืชและสัตว์

(11)อุจจาระและปัสสาวะที่ผ่านกระบวนการหมักมาแล้ว (ใช้ได้เฉพาะกับพืชที่ไม่เป็นอาหารของมนุษย์เท่านั้น)

(12)ของเหลวจากระบบน้ำโสโครกจากโรงงานที่ผ่านกระบวนการหมักโดยไม่เติมสารสังเคราะห์ และไม่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อมที่ได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการ

(13) วัสดุที่เหลือใช้จากกระบวนการในโรงงานฆ่าสัตว์ โรงงานอุตสาหกรรม เช่น โรงงานน้ำตาล โรงงานมันสำปะหลัง โรงงานน้ำปลา โดยกระบวนการเหล่านั้นต้องไม่เติมสารสังเคราะห์ และต้องได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการ

(14) สารควบคุมการเจริญเติบโตของพืชหรือสัตว์ ซึ่งได้จากธรรมชาติ

(15)สารอนินทรีย์ ได้แก่ หินบด หินฟอสเฟต หินปูนบด (ไม่เผาไฟ) ยิบซั่ม แคลเซียม ซิลิเกต แมกนีเซียมซัลเฟต แร่ดินเหนียว แร่เฟลด์สปาร์ แร่เพอร์ไลท์ ซีโอไลท์ เบนโทไนท์ หินโพแทส แคลเซียมจากสาหร่ายทะเล และสาหร่ายทะเล เปลือกหอย เถ้าถ่าน เปลือกไข่บด กระดูกป่น และเลือดแห้ง เกลือสินเธาว์ บอแรกซ์ กำมะถัน และธาตุอาหารเสริมสำหรับพืช เช่น โบรอน ทองแดง เหล็ก แมงกานีส โมลิบดินัมและสังกะสี

สิ่งที่ไม่อนุญาตให้ใช้ปรับปรุงดิน

(1) กากตะกอนจากแหล่งน้ำโสโครก (ห้ามใช้กับผัก)

(2) สารเร่งการเจริญเติบโต

(3) จุลินทรีย์และผลิตภัณฑ์จากจุลินทรีย์ที่ผ่านการตัดต่อพันธุกรรม

(4) สารพิษตามธรรมชาติ เช่น โลหะหนักต่างๆ

(5) ปุ๋ยเทศบาล หรือ ปุ๋ยหมักจากขยะในเมือง

Read full story

27 September 2008

การปรับปรุงคุณภาพดินสู่ระบบเกษตรอินทรีย์ (2)

0 comments

การเตรียมพื้นที่สำหรับทำแปลงเกษตรอินทรีย์เมื่อพิจารณาคำพูดของคนสมัยโบราณซึ่งมักจะกล่าวเอาไว้เสมอว่า “จะปลูกพืชต้องเตรียมดิน” ชี้ให้เห็นว่าดินเป็นปัจจัยพื้นฐานสำคัญของการเกษตร จึงต้องมีการวางแผน ปรับปรุงดินให้มีคุณสมบัติเหมาะสมกับพืชที่จะปลูก

หลักการผลิตพืชอินทรีย์มาตรฐานของประเทศไทย

กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ประกาศใช้ข้อกำหนดที่เป็นแนวทางการผลิตพืชอินทรีย์ตามมาตรฐานการผลิตพืชอินทรีย์ไว้สำหรับเกษตรกรหรือองค์กรที่ประสงค์จะผลิตพืชอินทรีย์ให้ได้การรับรอง โดยมีสาระสำคัญดังนี้

1. การคัดเลือกพื้นที่ตั้งฟาร์มเกษตรอินทรีย์

การเลือกตำแหน่งที่ตั้งของพื้นที่สำหรับจัดทำเป็นแปลงเกษตรอินทรีย์เพื่อจะขอการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์มีข้อปฏิบัติดังนี้

(1)กรณีเป็นผู้ที่บุกเบิกใหม่ไม่เคยทำการเกษตรมาก่อนในระยะเวลาย้อนหลัง 5 ปี สามารถใช้เป็นพื้นที่ผลิตพืชอินทรีย์ได้ทันที สำหรับพื้นที่ปลูกไม้ผลยืนต้นต้องไม่ใช้สารเคมีการเกษตรต่อเนื่องกันอย่างน้อย 3 ปี และพื้นที่ปลูกพืชล้มลุกต้องไม่ใช้สารเคมีการเกษตรอย่างน้อย 1 ปี
(2)พื้นที่ตั้งต้องอยู่ห่างจากถนนสายหลักและห่างจากพื้นที่การเกษตรที่ใช้สารเคมี ทั้งนี้เพื่อเป็นการป้องกันและลดโอกาสการปนเปื้อนสารเคมีจากทางอากาศ ทางดิน และทางน้ำ
(3)คุณภาพดินต้องเหมาะสมสำหรับการปลูกพืช และมีแหล่งน้ำสะอาดที่เพียงพอ โดยปราศจากการปนเปื้อนสารเคมีในกิจกรรมการเกษตร

2. แหล่งน้ำที่ใช้ในฟาร์มเกษตรอินทรีย์

(1)เป็นแหล่งน้ำที่สะอาด ไม่มีการปนเปื้อนของสารเคมีที่เป็นพิษต่อมนุษย์และสัตว์
(2)ควรเป็นแหล่งน้ำจากบ่อบาดาล หรือแหล่งน้ำที่กักเก็บจากน้ำฝนธรรมชาติ มีพื้นรองรับน้ำสะอาด ปราศจากกิจกรรมใดๆ ที่ใช้สารเคมีในพื้นที่รับน้ำอยู่ห่างจากโรงงานอุตสาหกรรมที่ก่อให้เกิดมลภาวะอันเป็นพิษปนเปื้อนในแหล่งน้ำ
(3)ในกรณีใช้น้ำจากแม่น้ำ น้ำจากคลองชลประทาน ต้องเก็บตัวอย่างน้ำไปตรวจวิเคราะห์หาสารพิษปนเปื้อนก่อนที่จะนำไปใช้ในการผลิตพืชอินทรีย์

3. การบริหารจัดการฟาร์มเกษตรอินทรีย์

(1)มีวิธีการป้องกันการปนเปื้อนสารเคมีที่เป็นพิษทั้งทางดิน น้ำและอากาศ
(2)มีวิธีการจัดการและกำจัดของเสียภายในฟาร์ม
(3)มีวิธีป้องกันการปนเปื้อนของสารเคมีในกระบวนการผลิต การเก็บรักษาและการขนส่งไปสู่ตลาด
(4)ต้องมีการวางแผนการผลิตพืชตั้งแต่การเพาะปลูกจนถึงการเก็บเกี่ยว การกำหนดพื้นที่เพาะปลูกและชนิดพืชที่ปลูกควรมีความต้านทานต่อการทำลายของแมลงศัตรูพืช
(5)การใช้ปัจจัยการผลิต ไม่ใช้สารเคมีเกษตรทุกชนิดที่ได้จากการสังเคราะห์โดยมนุษย์ในทุกขั้นตอนของการผลิต เก็บเกี่ยว เก็บรักษา และการขนส่ง
(6)ต้องมีการป้องกันไม่ให้เครื่องจักร เครื่องมือการเกษตรปนเปื้อนสารเคมีเกษตร
(7)มีการบันทึกกิจกรรมการเกษตรในฟาร์มทุกกิจกรรม เช่น แหล่งที่มาของเมล็ด พันธุ์พืช ปัจจัยการผลิต การบำรุงรักษา ป้องกัน กำจัดแมลงศัตรูพืช ฯลฯ เพื่อให้สามารถตรวจสอบข้อมูลกิจกรรมการเกษตรย้อนหลังได้อย่างถูกต้อง

Read full story

26 September 2008

การปรับปรุงคุณภาพดินสู่ระบบเกษตรอินทรีย์ (1)

0 comments

ปัจจุบันกระแสการดูแลรักษาสุขภาพของประชากรโลกเริ่มมีมากขึ้น ทำให้ผู้บริโภคหันมาใส่ใจในการเลือกซื้ออาหารที่ปลอดภัยและปราศจากสารเคมีต่างๆ ที่ตกค้างอยู่ในผลิตผลการเกษตรซึ่งสารเคมีตกค้างล้วนแล้วแต่เป็นอันตรายต่อร่างกาย ด้วยเหตุนี้การเกษตรของประเทศหลายประเทศได้ปรับเปลี่ยนมาสู่การคิดหาวิธีการทำเกษตรกรรมที่ไม่ใช้สารเคมีสังเคราะห์ เรียกว่า เกษตรอินทรีย์ (Organic Agriculture) เพื่อช่วยลดต้นทุนการผลิตและได้ผลผลิตที่เป็นที่ต้องการของตลาด โดยการพยายามประยุกต์ใช้ธรรมชาติให้เกิดประโยชน์สูงสุด ลดการใช้ปัจจัยการผลิตภายนอกและหลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีสังเคราะห์ ซึ่งวิธีการทำเกษตรแนวนี้จะไม่เป็นอันตรายต่อทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค

เกษตรอินทรีย์คือ

ระบบการผลิตที่คำนึงถึงสภาพแวดล้อมรักษาสมดุลของธรรมชาติและความหลากหลายของทางชีวภาพโดยมีระบบการจัดการนิเวศวิทยาที่คล้ายคลึงกับธรรมชาติและหลีกเลี่ยงการใช้สารสังเคราะห์ไม่ว่าจะเป็นปุ๋ยเคมี สารเคมีกำจัดศัตรูพืชและฮอร์โมนต่าง ๆ ตลอดจนไม่ใช้พืชหรือสัตว์ที่เกิดจากการตัดต่อทางพันธุกรรมที่อาจเกิดมลพิษในสภาพแวดล้อมเน้นการใช้อินทรียวัตถุ เช่น ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยพืชสด และ ปุ๋ยชีวภาพในการปรับปรุงบำรุงให้มีความอุดมสมบูรณ์ เพื่อให้ต้นพืชมีความแข็งแรงสามารถต้านทานโรคและแมลงด้วยตนเอง รวมถึงการนำเอาภูมิปัญญาชาวบ้านมาใช้ประโยชน์ด้วย ผลผลิตที่ได้จะปลอดภัยจากสารพิษตกค้างทำให้ปลอดภัยทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคและไม่ทำให้สภาพแวดล้อมเสื่อมโทรมอีกด้วย

หลักการเกษตรอินทรีย์เป็นหลักการสากลที่สอดคล้องกับเงื่อนไขทางเศรษฐกิจ สังคม ภูมิอากาศและวัฒนธรรมของท้องถิ่น เนื่องจากก่อให้เกิดผลผลิตที่ปลอดภัยจากสารพิษ และช่วยฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของดิน มีหลักการของการอยู่ร่วมกันและพึ่งพิงธรรมชาติทั้งบนดินและใต้ดิน ใช้ปัจจัยการผลิตอย่างเห็นคุณค่า และมีการอนุรักษ์ให้อยู่อย่างยั่งยืน นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาแบบเป็นองค์รวมและความสมดุลที่เกิดจากความหลากหลายทางชีวภาพในระบบนิเวศทั้งระบบ

 

หลักการและความมุ่งหมายของเกษตรอินทรีย์

(1) พัฒนาระบบการผลิตไปสู่แนวทางเกษตรผสมผสานที่มีความหลากหลายของพืชและสัตว์

(2) พัฒนาระบบการผลิตที่พึ่งพาตนเองในเรื่องของอินทรียวัตถุและธาตุอาหารภายในฟาร์ม

(3) ฟื้นฟูและรักษาความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ โดยใช้ทรัพยากรหมุนเวียนให้เกิดประโยชน์สูงสุด

(4) รักษาความสมดุลของระบบนิเวศในฟาร์มและความยั่งยืนของระบบนิเวศโดยรวม

(5) ป้องกันและหลีกเลี่ยงการปฏิบัติที่ทำให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม

(6) สนับสนุนระบบการผลิตและกระบวนการจัดการทุกขั้นตอนที่คำนึงถึงหลักมนุษยธรรม

(7) ยึดหลักการปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยว และการแปรรูปที่เป็นวิธีการธรรมชาติ ประหยัดพลังงาน และส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด

หลักวิธีการทางเกษตรอินทรีย์

ไม่ใช้สารเคมีทางการเกษตร

ใช้จุลินทรีย์ในการผลิต      

ใช้ปุ๋ยหมัก (ปุ๋ยอินทรีย์)

ไถพรวนด้วยเครื่องจักร

การควบคุมศัตรูพืชด้วยชีววิธี/สารอินทรีย์กำจัดศัตรูพืช

การควบคุมวัชพืชโดยการไถกลบ และปลูกพืชหมุนเวียน

Read full story

19 September 2008

Soiless Culture : ปลูกผักไร้ดิน

0 comments

จากพื้นที่โรงเรือนเพาะกล้าที่เหลือจากการใช้ประโยชน์ บริษัทฯจึงมีแนวคิดที่จะปรับปรุงพื้นที่ส่วนนี้เพื่อใช้ในการทดลองปลูกพืชผักไร้ดิน (Soiless culture) ซึ่งจะช่วยขจัดปัญหาของโรคพืชที่เกิดจากดิน สามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการแปลงปลูกด้วยการให้น้ำและปุ๋ยทางระบบน้ำหยด และยังสามารถทำการผลิตผักนอกฤดูกาล จำหน่ายได้ในราคาที่สูงอีกด้วย
โดยพืชผักที่จะทำการปลูกในเบื้องต้นได้แก่ ผักสลัดชนิดต่างๆ จำนวน 900 ต้น วัสดุปลูกเป็นขุยมะพร้าว และใช้ท่อ PVC 3 นิ้วผ่าครึ่งเป็นภาชนะปลูก  ติดตั้งระบบน้ำหยดในการให้น้ำและสารละลายปุ๋ย


การปลูกพืชไร้ดิน

การปลูกพืชไร้ดิน แบ่งเป็น 3 วิธีใหญ่ๆ คือ
1. Soiless Culture หรือ Substrate Culture
2. Hydroponics คือ การปลูกพืชโดยให้รากพืชแช่อยู่ในน้ำสารละลายธาตุอาหารโดยตรง
3. Aeroponics คือ การปลูกพืชโดยการฉีดพ่นน้ำสารละลายธาตอาหารให้กับรากพืชที่ลอยอยู่ในอากาศ

Soiless culture หรือ Substrate culture จะทำการปลูกพืชลงในวัสดุปลูกอื่นที่ไม่ใช่ดิน แบ่งเป็น 3 ชนิด คือ
(1) วัสดุอินทรีย์สาร เช่น ชานอ้อย ขี้เลื่อย ขุยมะพร้าว แกลบ ขี้เถ้า เป็นต้น
(2) วัสดุอนินทรีย์สาร เช่น ทราย หิน กรวด เม็ดดินเผา เพอไลท์(Perlite)เป็นต้น
(3) วัสดุสังเคราะห์ เช่น เม็ดโฟม  แผ่นฟองน้ำ เส้นใยพลาสติก เป็นต้น

อ้างอิง : www.hydrowork.net

Read full story

17 September 2008

การเพาะเลี้ยงเชื้อราปฏิปักษ์

0 comments

เชื้อราปฏิปักษ์ หมายถึงเชื้อราที่มีความสามารถในการต่อสู้กับศัตรูพืชได้ ซึ่งมีหลายประเภท คือ เชื้อราที่ต่อสู้กับแมลง โดยสามารถเข้าทำลายแมลง หรือเชื้อราที่เข้าทำลายเชื้อราก่อโรคในพืชหลายชนิด เช่น เชื้อราโรคเหี่ยว เป็นต้น

โรครากและโคนเน่า ซึ่งเกิดจากเชื้อราเป็นโรคที่พบได้บ่อยในการปลูกมะเขือม่วง การนำเชื้อราปฏิปักษ์มาใช้จะช่วยควบคุมโรคดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีความปลอดภัยสูงต่อผลผลิตและเกษตรกร เชื้อราปฏิปักษ์ที่รู้จักกันดีคือ เชื้อราไตรโคเดอร์มา (Trichoderma spp.) ซึ่งเกษตรกรสามารถทำการเพาะเลี้ยงได้เอง

 

วิธีการเพาะเลี้ยงเชื้อราไตรโคเดอร์มา

วัสดุและอุปกรณ์

1. หัวเชื้อไตรโคเดอร์มาผง
2. ปลายข้าวสารประมาณ 6-10 กิโลกรัม
3. หม้อหุงข้าวไฟฟ้า
4. ถุงพลาสติกใสชนิดทนร้อนขนาด 8 x 12 นิ้ว
5. ยางรัดปากถุง
6. สำลีและแอลกอฮอล์

วิธีการ

1. หุงปลายข้าวสารด้วยหม้อหุงข้าวไฟฟ้าให้สุกประมาณ 90% อย่าให้สุกมากเกินไปเพราะจะทำให้ข้าวแฉะ แล้วตักใส่ถุงพลาสติกประมาณ 200 กรัม

 

 

 

 

2. ใช้สำลีชุบแอลกอฮอล์เช็ดช้อนตัก พื้นโต๊ะบริเวณที่จะทำการถ่ายเชื้อให้สะอาด และใช้สำลีชุบแอลกอฮอล์เช้ดมือผู้ท่จะทำการถ่ายเชื้อด้วย เพื่อฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ที่อยู่โดยรอบไม่ให้ปนเปื้อน
3. ตักหัวเชื้อไตรโคเดอร์มาผง ประมาณ ครึ่งช้อนโต๊ะ ใส่ในถุงพลาสติกที่บรรจุข้าวไว้แล้ว และรัดปากถุงให้แน่น ขยำข้าวกับเชื้อเข้าด้วยกันเบาๆ อย่าให้เม็ดข้าวถูกบี้จนเละ เพราะต้องให้มีอากาศถ่ายเทได้สะดวกเพื่อการเดินของเส้นใยเชื้อราจะง่ายขึ้น (ขั้นตอนการถ่ายหัวเชื้อนี้ต้องเลือกสถานที่ที่สะอาดและต้องระมัดระวังการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์จากสิ่งแวดล้อม)

4. ใช้ปลายเข็มแทงถุงพลาสติกประมาณ 20 – 30 รู เพื่อให้มีอากาศถ่ายเทได้ทั่วถุงแล้วแผ่ถุงข้าวให้แบนราบ

 

 

 

 

 

5. บ่มเชื้อไว้ในที่มีอากาศถ่ายเท มีแสงสว่างส่องถึงและปลอดภัยจากแมลงและมด เมื่อครบเวลา 2 วันจะเห็นเส้นใยของเชื้อราเริ่มเจริญ ให้ทำการขยำถุงข้าวเพื่อให้เชื้อกระจายตัวทั่วทั้งถุงแล้วบ่มต่ออีก 4-5 วัน จึงนำไปใช้

clip_image002[33]

 

เชื้อสด 7 วัน พร้อมนำไปใช้

 

 

 

 

 

 

 

 

 

6. วิธีการนำไปใช้
(1)   ผสมน้ำ กรองเศษข้าวออก เติมกากน้ำตาลเล็กน้อย นำไปฉีดพ่นได้ทันที ป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา
(2) ให้นำเชื้อสดผสมรำข้าว (รำละเอียด) และปุ๋ยอินทรีย์หรือปุ๋ยคอกเก่า อัตราส่วน 1:4:100 โดยน้ำหนัก คลุกผสมให้เข้ากัน แล้วโรยบนแปลงที่เตรียมไว้แล้วอัตรา 100 กรัม (ประมาณ 2 กำมือ) ต่อพื้นที่ 1 ตารางเมตรสำหรับลดเชื้อก่อโรคในดิน ก่อนการปลูกพืชประมาณ 1 สัปดาห์


(3) นำไปผสมดินปลูกด้วยอัตราส่วน 1:4 แล้วใส่ในกระบะเพาะเมล็ด หรือกระบะเพาะต้นพันธุ์พืช


(4)  ใช้รองก้นหลุมปลูกให้ใช้ประมาณ 2 ช้อนแกงต่อหลุม
(5)  หว่านแปลงปลูกพืช อัตรา 100 กรัมต่อพื้นที่ 1 ตารางเมตร

 

ต้นทุนการขยายเชื้อไตรโครเดอร์ม่า

หัวเชื้อไตรโครเดอร์ม่า      0.28 บาท/กรัม
ปลายข้าว                     9.00 บาท/ลิตร ( แบ่งได้ 7 ถุง )
ข้าว                            1.28 บาท/ถุง
ถุงพลาสติก+ยางรัด         0.25 บาท

ราคาไตรโครเดอร์ม่าพร้อมใช้ ราคา 1.81 บาท/ถุง

**ต้องการคำแนะนำในการเพาะเลี้ยงเชื้อราไตรโคเดอร์มา หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ บริษัท เอช ซี ซัพพลาย จำกัด โทร. 053-952256-7

Read full story

15 September 2008

เพิ่มภูมิต้านทานให้มะเขือม่วงด้วยการเสียบยอด

0 comments

โรคเหี่ยวแบคทีเรียในมะเขือม่วง

โรคเหี่ยวเขียวหรือโรคเหี่ยวจากเชื้อแบคทีเรีย เชื้อแบคทีเรียสาเหตุของโรคคือ Ralstonia solanacearum อาศัยอยู่ในดินและเข้าทำลายพืชทางรากหรือลำต้น สามารถแพร่ระบาดไปกับน้ำ วัสดุทางการเกษตรที่ใช้ อาการเหี่ยวจะเริ่มที่ใบบางส่วนและเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ต้นตายได้ ถ้านำลำต้นมาตัดขวางจะพบว่าไส้กลางตัน มีอาการช้ำน้ำและสีเข้มกว่าต้นที่ไม่เป็นโรค  เมื่อพบต้นที่เป็นโรคเหี่ยวจะต้องทำการถอนและเผาทำลาย เพื่อป้องกันการระบาดของโรค

มะเขือม่วงเป็นพืชในตระกูล Solanaceae ซึ่งติดโรคเหี่ยวได้ดีที่สุดในทุกระยะของการเจริญเติบโต หากมีการติดโรคจะไม่สามารถเก็บผลผลิตได้ตลอดระยะของการเก็บเกี่ยว ทำให้สูญเสียรายได้ไปเป็นจำนวนมาก

ปัจจุบันมีการนำเทคโนโลยีการเสียบยอดมาช่วยป้องกันโรคดังกล่าว โดยใช้มะเขือพวงพันธุ์พื้นเมืองมาเป็นต้นตอ ทำให้ได้ต้นกล้ามะเขือม่วงที่มีความต้านทานโรค หาอาหารเก่ง และเจริญเติบโตเร็ว นอกจากมะเขือม่วงแล้ว มะเขือพันธุ์อื่นๆก็สามารถใช้วิธีการเสียบยอดได้เช่นกัน

ต้นกล้ามะเขือม่วงเสียบยอด

เทคนิคการผลิตต้นกล้ามะเขือม่วงเสียบยอด

1. เลือกต้นกล้าที่จะใช้เสียบยอด ต้นกล้ามะเขือม่วงอายุประมาณ 1 เดือน และต้นกล้ามะเขือพวงอายุประมาณ 2 เดือน
2. ตัดยอดต้นกล้ามะเขือพวงเฉียงทำมุม 45 องศา สูงจากโคนต้นประมาณ 2 นิ้ว
3. ตัดยอดต้นกล้ามะเขือม่วงเฉียงทำมุม 45 องศา ให้มีความยาวจากปลายยอดถึงรอยตัดประมาณ 1.5 นิ้ว
4. เสียบสายยางเสียบยอดลงบนรอยตัดของต้นกล้ามะเขือพวง และนำยอดต้นกล้ามะเขือม่วงมาเสียบลงไป โดยให้รอยตัดแนบกันพอดี
5. นำเข้าโรงอบต้นกล้าประมาณ 10 วัน  จึงเอาออกมาคัดต้นกล้าที่เสียบติด  ทำการรดน้ำให้ปุ๋ยและพ่นสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตามปกติจนกว่าจะนำไปปลูก

ในช่วงฤดูหนาว (มกราคม-กุมภาพันธ์) มะเขือจะเจริญเติบโตช้า เนื่องจากอุณหภูมิค่อนข้างต่ำ จึงควรเพิ่มเวลาในการเพาะเมล็ด และเพิ่มแสงให้กับต้นกล้าในเวลากลางคืนโดยใช้ไฟเดย์ไลท์ (Day Light) ส่วนในฤดูร้อนควรเพิ่มการรดน้ำเช้า-เย็น หรือให้น้ำโดยใช้ระบบพ่นน้ำแบบสเปรย์ เพื่อป้องกันไม่ให้วัสดุเพาะกล้า (media) แห้ง 


**ต้องการขอคำแนะนำในการผลิตต้นกล้ามะเขือม่วงเสียบยอด เข้าชมวิธีการผลิต  หรือสั่งซื้อต้นกล้า กรุณาติดต่อที่ บริษัท เอช ซี ซัพพลาย จำกัด โทร. 053-952256-7

Read full story

11 September 2008

เกี่ยวกับสถานีทดลอง

0 comments

DSC09491

บนเนื้อที่มากกว่า 20 ไร่ในตำบลเวียงกาหลง อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย เรามีความตั้งใจที่จะสร้างให้เกิดตัวอย่างของการทำเกษตรแบบผสมผสาน ในสถานีทดลองของเรา ประกอบด้วย

1) โรงเรือนเพาะกล้า เราผลิตต้นกล้ามะเขือม่วงญี่ปุ่นด้วยเทคนิคการเสียบยอดเข้ากับต้นมะเขือพวงพันธุ์พื้นเมือง และนำไปส่งเสริมให้เกษตรกรในพื้นที่ปลูกเพื่อส่งให้กับโรงงานอุตสาหกรรม

2) แปลงทดลอง พื้นที่แปลงทดลองแบ่งออกเป็นส่วนๆ สำหรับใช้ปลูกพืชหมุนเวียน ได้แก่ มะเขือม่วงญี่ปุ่น แตงกวายุโรป ข้าว พืชสมุนไพร และพืชผัก เพื่อช่วยลดปัญหาแรงงานและเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการแปลง เราได้นำระบบน้ำหยดเข้ามาใช้ในแปลงทดลองบางส่วน เริ่มจากแปลงปลูกมะเขือม่วงญี่ปุ่นจำนวน 3 ไร่

3) โรงเรือนเลี้ยงสัตว์  วัวและแพะ

4) บ่อปลา

 

นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมอื่นๆ เช่น การทำปุ๋ยชีวภาพและสารชีวภัณฑ์สูตรต่างๆ การเพาะและขยายเชื้อไตรโคเดอร์มา เพื่อใช้ในแปลงทดลอง และนำไปส่งเสริมและถ่ายทอดความรู้ให้กับเกษตรกรเพื่อช่วยลดต้นทุนและป้องกันปัญหาสุขภาพจากการใช้ปุ๋ยและสารเคมีทางการเกษตร

เป้าหมายของเราคือ การเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการแปลงปลูก ให้ได้ผลผลิตที่ดี มีคุณภาพ และปลอดภัยต่อทั้งผู้บริโภคและสุขภาพของเกษตรกรผู้ปลูก ซึ่งเราหวังว่าการทดลองและวิจัยในสถานีทดลองแห่งนี้ จะเป็นประโยชน์และมีส่วนช่วยส่งเสริมการเกษตรของไทยให้พัฒนาต่อไป

 

We are learning by researching and developing agriculture technology based on New Theory Agricultural in more than 20 rais in Weingpapao District, Chiangrai THAILAND. Our purpose is to increasing quantity, quality, safety agricultural produces as well as farmers well-being.

H C Supply is not only support the agricultural produces but we also glad to serve the happiness and well-being to people all around the world.

Read full story
Related Posts with Thumbnails

H C Supply Co.,Ltd.. Get yours at bighugelabs.com

H C Supply Co.,Ltd.
162 Moo12 Weingkalong Sub-District, Weingpapao District, Chiangrai 57260 THAILAND
Tel. +66 (0)53 952 418 Fax. +66 (0)53 952 136
E-mail : hsuchuanfoods@hotmail.com
 

H C Supply Co.,Ltd. © 2008 Business Ads Ready is Designed by Ipiet Supported by Tadpole's Notez