แหล่งน้ำและระบบน้ำสำหรับเกษตรอินทรีย์
การจัดหาแหล่งน้ำสำหรับเกษตรอินทรีย์ถ้าเป็นแหล่งน้ำจากแม่น้ำ หรือระบบชลประทานอาจมีสารเคมีปนเปื้อน และอาจทำให้ไม่ผ่านการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ อย่างไรก็ตามเกษตรกรไทยโดยเฉพาะทางภาคเหนือส่วนใหญ่ มีพื้นที่ทำกินอยู่นอกเขตชลประทานและพื้นที่เป็นภูเขาสูง จึงสามารถสร้างแหล่งเก็บน้ำฝนไว้ใช้ในแปลงเกษตรอินทรีย์ของตนเองโดยอาจทำได้ดังนี้
(1) บริเวณพื้นที่แปลงเกษตรอินทรีย์เป็นภูเขา
ให้ทำการกันพื้นที่ป่าส่วนหนึ่งไว้เป็นพื้นที่รับน้ำฝน และทำคันดินยกสูงกั้นเพื่อกักเก็บน้ำฝนบริเวณที่ลุ่มต่ำเป็นอ่างกักเก็บน้ำไว้ใช้ ซึ่งถ้ามีขนาดพื้นที่ 2-3 ไร่ และลึก 2-3 เมตร สามารถจุน้ำไว้ใช้ในแปลงเกษตรอินทรีย์พื้นที่ไม่เกิน 10 ไร่ ได้ตลอดทั้งปี
(2) บริเวณแปลงเกษตรมีลำห้วยหรือลำธารตามธรรมชาติขนาดเล็กๆไหลผ่าน
ให้ทำการสร้างฝายต้นน้ำขนาดเล็กหรือฝายแม้ว อาจใช้วัสดุในท้องถิ่น เช่น ไม้ ทราย หิน มากั้น รวมทั้งไม้น้ำที่ชอบขึ้นตามลำห้วยมาปักชำเรียงแนวขวางลำห้วยไว้ วิธีนี้ถ้าลำห้วยกว้างประมาณ 5 เมตร และคันฝายสูงประมาณ 1 เมตร ฝายแม้วจะกักเก็บน้ำไว้ได้ประมาณ 500 ลูกบาศก์เมตร สามารถสร้างความชุ่มชื้นให้กับพื้นที่และอาศัยแหล่งน้ำไว้ในการเกษตรได้ แต่ที่สำคัญฝายแม้วช่วยชะลอกระแสน้ำความแรงของน้ำไม่ให้ชะล้างอินทรีย์วัตถุและหน้าดินไหลไปกับกระแสน้ำ
(3) กรณีพื้นที่ทำแปลงเกษตรเป็นพื้นที่ราบ
ให้ทำการขุดสระเก็บน้ำขนาด 2 -3 ไร่ ลึกประมาณ 4 เมตร วิธีนี้อาจสิ้นแปลงค่าใช้จ่ายสูงกว่า 2 วิธีที่กล่าวมา แต่มีข้อดีคือ สามารถใช้ประโยชน์จากสระเก็บน้ำได้หลากหลาย เช่น การเลี้ยงปลาในบ่อ หรือสร้างเล้าไก่บนบ่อ ส่วนคันดินขอบบ่อสามารถปลูกพืชผักสมุนไพร กล้วยหรือไม้ผลยืนต้น การนำเอาน้ำในสระไปใช้ทำได้โดยการสูบขึ้นถังเก็บแล้วปล่อยไหลตามท่อเป็นระบบสปริงเกลอร์ การทำระบบน้ำด้วยวิธีนี้มีความสะดวกในการให้น้ำแก่พืช และประหยัดน้ำได้มาก
0 comments:
Post a Comment
เชิญร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น