วิธีการปรับปรุงคุณภาพดิน
ผลกระทบจากการใช้สารเคมีทางการเกษตรนอกจากจะก่อให้เกิดสารพิษตกค้างในผลิตผลการเกษตรซึ่งเป็นอันตรายโดยตรงต่อผู้บริโภคแล้วยังสะสมสารพิษในดินจนดินเสื่อมสภาพ สิ่งมีชีวิตในดินถูกทำลาย หรือเรียกว่า “ดินตาย” ดังนั้นการปรับปรุงคุณภาพดินให้มีชีวิตโดยการพึ่งพาธรรมชาติหรือเลียนแบบวิธีธรรมชาติด้วยการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยชีวภาพ หรืออินทรียวัตถุ เพื่อปรับปรุงโครงสร้างของดินให้เกิดความสมดุลดังมีรายละเอียดต่อไปนี้
ปุ๋ยคอก
ปุ๋ยคอกเป็นแหล่งธาตุอาหารของพืชที่หาได้ง่ายและราคาถูก เนื่องจากเกษตรกรไทยส่วนใหญ่นิยมเลี้ยงสัตว์ควบคู่ไปกับการปลูกพืช โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเลี้ยง โค กระบือ ไก่ เป็ด และสุกร ทำให้ได้มูลสัตว์เป็นจำนวนมาก เมื่อนำมาผ่านกระบวนการหมักแล้ว สามารถนำเอาไปใช้ในพื้นที่แปลงเกษตรกรได้ทันที ในปุ๋ยคอกมีจุลินทรีย์ อินทรีย์วัตถุ วิตามิน และฮอร์โมนพืชบางชนิด แต่เมื่ออินทรียวัตถุถูกจุลินทรีย์ย่อยสลายแล้ว ทำให้ธาตุอาหารบางส่วนละลายไปกับน้ำและบางส่วนระเหยเป็นก๊าซ เช่น คาร์บอนไดออกไซด์ หรือไนโตรเจนเปลี่ยนอยู่ในรูปก๊าซแอมโมเนียที่มีกลิ่นฉุน ในปุ๋ยคอกแต่ละชนิดมีธาตุอาหารพืชไม่เท่ากันขึ้นอยู่กับชนิดของสัตว์
ปริมาณธาตุอาหารหลักของพืชในปุ๋ยคอกแต่ละชนิด
ชนิดของปุ๋ยคอก ไนโตรเจน (%) ฟอสฟอรัส (%) โพแทสเซียม (%)
มูลโค 1.91 0.56 1.40
มูลกระบือ 1.23 0.69 1.66
มูลไก่ 3.77 1.89 1.76
มูลเป็ด 2.15 1.33 1.15
มูลสุกร 3.11 12.20 1.84
มูลค้างคาว 5.28 8.42 0.58
การใช้ปุ๋ยคอกมีข้อดี คือ เป็นวัสดุอินทรีย์ที่หาได้ง่ายในท้องถิ่น มีราคาถูก แต่การนำเอาปุ๋ยคอกไปใส่ให้กับต้นพืชโดยตรงอาจเป็นอันตรายแก่พืชได้ เนื่องจากความร้อนที่เกิดขึ้นจากการหมักในดินและแรงดันออสโมติก เนื่องมาจากความเข้มของแร่ธาตุทำให้ต้นพืชสูญเสียน้ำทางราก และเหี่ยวเฉาตายในที่สุด ดังนั้นควรนำปุ๋ยคอกมาหมักให้เกิดการย่อยสลาย และไม่มีความร้อนหลงเหลืออยู่ นอกจากนี้ระหว่างการหมักปุ๋ยคอกความร้อนที่เกิดขึ้นสูงถึง 70 องศาเซลเซียสจะช่วยกำจัดจุลินทรีย์ก่อโรคที่ติดมากับมูลสัตว์ได้อีกด้วย จึงเป็นการลดความเสี่ยงการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์ในผลิตผลการเกษตร โดยเฉพาะพวกผักสดต่างๆ ซึ่งมักประสบปัญหาเมื่อส่งออกแล้วตรวจพบเชื้อก่อโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร ทำให้ต่างประเทศลดความน่าเชื่อถือ การใช้ปุ๋ยคอกและอินทรียวัตถุเพื่อปรับปรุงโครงสร้างดินอาจใช้ได้ตั้งแต่ 1 – 3 ตันต่อไร่ต่อครั้ง
(ซ้าย)หลังจากไถดินตากแล้วนำเศษพืชมาโรย
(ขวา)ใช้แกลบเหลืองและปุ๋ยคอกโรยซ้ำ แล้วจึงไถคลุกผสมพร้อมกับราดนำหมักจุลินทรีย์ เพื่อช่วยปรับปรุงโครงสร้างดินก่อนปลูกพืช
ปุ๋ยพืชสด
ปุ๋ยพืชสดเป็นปุ๋ยอินทรีย์ชนิดหนึ่งที่ได้จากการไถกลบหรือตัดสับต้นพืชลงในดินขณะที่กำลังมีการออกดอกเพราะมีธาตุอาหารสมบูรณ์และได้น้ำหนักสดมาก หลังจากนั้นปล่อยให้เกิดการย่อยสลายตามธรรมชาติ ก็จะได้ธาตุอาหารสำหรับพืชที่จะปลูกต่อไป ในการปลูกพืชสำหรับเป็นปุ๋ยพืชสดนิยมพืชตระกูลถั่วมากที่สุดเพราะ ปลูกง่าย โตเร็ว มีราก ใบ ลำต้นมากและมีการสลายตัวเร็ว ถั่วที่นิยมใช้เป็นปุ๋ยพืชสด ได้แก่ ปอเทือง โสนอัฟริกัน โสนไต้หวัน โสนคางคก ถั่วที่ปกคลุมดินช่วยปราบวัชพืช ต้นและใบร่วงเป็นปุ๋ยบำรุงดิน เช่น ถั่วพร้า ถั่วลาย ถั่วอัญชัน เป็นต้น
(ซ้าย) ถั่วพร้าเจริญเติบโตคลุมวัชพืช
(ขวา) ถั่วเขียวกำลังออกดอกพร้อมจะไถกลบ
การนำเอาพืชตระกูลถั่วมาเพาะปลูกเป็นปุ๋ยพืชสดมีข้อพิจารณาดังนี้
(1)ลักษณะของดิน ต้องปรับให้เหมาะสม เช่น ถ้าดินเปรี้ยวควรใส่ปูน
(2)ฤดูกาลที่เหมาะสมควรเป็นต้นฤดูฝนประมาณเดือนพฤษภาคม ก่อนการปลูกพืชหลักประมาณ 3 เดือน หรือปลายฤดูฝน หลังการเก็บเกี่ยวพืชหลัก โดยที่ดินยังมีความชื้นอยู่
(3)วิธีการปลูกมี 3 วิธี คือการโรยเมล็ดเป็นแถว หยอดเป็นหลุม และหว่าน ซึ่งควรไถดะก่อนหว่านเมล็ดแล้วคราดกลบ
การใช้ปุ๋ยพืชสดจะเป็นการเพิ่มปริมาณอินทรียวัตถุ แร่ธาตุและความอุดมสมบูรณ์แก่ดินในเวลารวดเร็ว
วิธีการใช้ปุ๋ยพืชสดทำได้ดังนี้
(1)การตัดสับและไถกลบควรทำในช่วงที่พืชมีธาตุไนโตรเจนและน้ำหนักสดสูงสุดเมื่อเริ่มออกดอกและบานเต็มที่
(2)การปลูกพืชปุ๋ยพืชสดในพื้นที่ขนาดใหญ่ใช้วิธีหว่านเมล็ดประมาณ 3 – 4 กิโลกรัมต่อไร่ และไถกลบก่อนปลูกพืชหลัก
(3)การปลูกแซมระหว่างร่องปลูกพืชหลักให้ปลูกเมื่อพืชหลักโตเต็มที่แล้วเพื่อป้องกันการแย่งธาตุอาหาร
(4)กรณีที่เกษตรกรมีพื้นที่ว่างเปล่าตามหัวไร่ปลายนาควรปลูกพืชปุ๋ยพืชสดแล้วตัดเอามาใส่ในแปลงปลูกพืชหลักและไถกลบ
0 comments:
Post a Comment
เชิญร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น