น้ำหมักชีวภาพเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งของเกษตรอินทรีย์ ซึ่งผลิตได้จากการนำเอาเศษวัสดุเหลือทิ้ง เช่น เศษพืชผัก หรือ สัตว์ที่ยังสดอยู่ มาหมักให้เกิดการย่อยสลายโดยจุลินทรีย์ที่ติดมากับวัตถุดิบหรือจุลินทรีย์ที่เติมลงไปโดยใช้กากน้ำตาลเป็นสารอาหารสำหรับจุลินทรีย์ จนได้ผลิตภัณฑ์เป็นของเหลวประกอบไปด้วยกรดอินทรีย์ กรดอะมิโน กรดฮิวมิก วิตามิน แร่ธาตุ และฮอร์โมนพืช ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้พืชเจริญเติบโตได้ดี ดังนั้นเกษตรกรส่วนใหญ่จึงเรียกน้ำหมักชีวภาพว่า “ปุ๋ยอินทรีย์น้ำ”
การทำน้ำหมักชีวภาพ
การทำน้ำหมักชีวภาพโดยใช้วัสดุเหลือทิ้งจากการเกษตรมีส่วนประกอบดังนี้ เศษผักและเศษผลไม้ต่างๆ เศษปลา เศษหอย กากน้ำตาล (ใช้น้ำตาลทรายแดงแทนก็ได้) และหัวเชื้อจุลินทรีย์
(1) น้ำหมักชีวภาพจากพืช
นำเศษผักหรือผลไม้ที่สับ หรือบดให้ละเอียดผสมกับกากน้ำตาลอัตราส่วนประมาณ 3 ต่อ 1 คลุกให้เข้ากันใส่ในถังหรือโอ่งที่มีฝาปิดมิดชิด แล้วเติมหัวเชื้อจุลินทรีย์ประมาณ 1 ต่อน้ำหมัก 1 ใบ ประมาณ 20 กิโลกรัม คนให้เข้ากัน เพื่อเร่งอัตราการย่อยสลาย ใช้ของหนักกดทับ โดยปล่อยทิ้งไว้ประมาณ 10 – 15 วัน ถ้าเป็นฤดูร้อนอาจใช้เวลาสั้นกว่านี้ จะได้น้ำหมักเป็นของเหลวข้น
เมื่อต้องการใช้นำไปผสมน้ำอัตราส่วน 1 : 500 หรือ 1 : 1000 สามารถใช้รดโคนต้น หรือฉีดพ่นทางใบ ถ้ามีการใช้ร่วมกับการใช้ปุ๋ยอินทรีย์จะช่วยเร่งการเจริญเติบโตของพืชได้ดี
(2) การทำน้ำหมักชีวภาพจากเศษปลา
นำเศษปลาสดผสมกับกากน้ำตาลอัตราส่วน 2 ต่อ 1 ให้ได้ปริมาณ 30 กิโลกรัมและหัวเชื้อจุลินทรีย์ 1 ลิตรหมักใส่ในถังปิดฝาให้สนิทประมาณ 20 – 30 วัน ถ้าจะป้องกันการเน่าเหม็นอาจใช้น้ำผลไม้รสเปรี้ยว เช่น มะนาว หรือใช้เศษเปลือกสับปะรด เพราะกรดจากผลไม้ช่วยให้ค่าความเป็นกรดด่างลดลงป้องกันไม่ให้เกิดการเน่าเหม็น ส่วนสับปะรดมีเอนไซม์ (น้ำย่อย) ช่วยเร่งการย่อยสลายโปรตีนจากปลา
เมื่อต้องการนำไปใช้ให้ผสมน้ำอัตราส่วน 1 : 1000 ฉีดพ่นทางใบทุกๆ 1 สัปดาห์ หรือ 1 : 500 รดโคนต้นไม้ 2 – 3 เดือนครั้ง
ข้อควรพิจารณาในการทำน้ำหมักชีวภาพ
1)ความเป็นกรด ด่าง หลังสิ้นสุดกระบวนการหมัก ควรอยู่ระหว่าง 3 – 4 ถ้าไม่นำไปใช้ค่าจะเพิ่มขึ้น 4 – 4.8
2)มีค่าการนำไฟฟ้าซึ่งแสดงถึงความเข้มข้นของปริมาณธาตุอาหาร ยิ่งสูงยิ่งมีแร่ธาตุมาก
3)กรดฮิวมิกซึ่งมีคุณสมบัติคล้ายกับฮอร์โมนพืช ถ้าเป็นน้ำหมักชีวภาพจากพืชมีค่าระหว่าง 0.5 – 1.0 %
4)กรดอินทรีย์ เช่น กรดแลกติก กรดแอซิติก ซึ่งมีประโยชน์ช่วยควบคุมการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ที่ทำให้เน่าเสีย ยับยั้งกิจกรรมจุลินทรีย์ที่เปลี่ยนรูปไนโตรเจนเป็นแอมโมเนีย และช่วยละลายสารประกอบอนินทรีย์ของแร่ธาตุบางชนิด เช่น แคลเซียมฟอสเฟต
0 comments:
Post a Comment
เชิญร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น