การทำเกษตรอินทรีย์เป็นระบบเกษตรที่เน้นความสมดุลของระบบนิเวศน์ อาศัยการเกื้อกูลกันของสิ่งมีชีวิตทั้งในดินและสภาพแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งจุลินทรีย์ในดินมีบทบาทสำคัญในการย่อยสลายอินทรียวัตถุให้เป็นแร่ธาตุแก่พืช
คุณสมบัติของดิน
การปรับปรุงคุณภาพดินให้มีความอุดมสมบูรณ์จึงจำเป็นต้องศึกษาคุณสมบัติของดินก่อนซึ่งจะต้องประกอบไปด้วยคุณสมบัติ 3 ด้าน
(1) สมบัติทางเคมี คือดินต้องมีความสมดุลของแร่ธาตุอาหาร ประกอบด้วยธาตุอาหารหลักได้แก่ ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียม ธาตุอาหารรองได้แก่ แคลเซียม แมกนีเซียม กำมะถัน ธาตุอาหารเสริม ได้แก่ เหล็ก สังกะสี ทองแดง โบรอน โมลิบดินัม แมงกานีส และคลอรีน โดยดินมีค่าความเป็นกรด-ด่างระหว่าง 6.5 – 7.0
(2) สมบัติทางกายภาพ คือดินต้องมีความสมดุลของอากาศ น้ำ กล่าวคือ ดินต้องมีโครงสร้างที่ดี ร่วนซุย อากาศถ่ายเทได้ดี มีความสามารถในการอุ้มน้ำได้ดี เพื่อช่วยให้รากพืชสามารถแผ่ขยายและชอนไชไปหาแร่ธาตุอาหารได้ง่ายในระยะที่กว้าง ไกล
(3) สมบัติทางชีวภาพ คือดินที่มีความสมดุลของสิ่งมีชีวิตในดิน ทั้งไส้เดือน และ จุลินทรีย์ซึ่งจะทำหน้าที่ย่อยสลายอินทรียวัตถุในดินให้อยู่ในรูปที่พืชนำเอาไปใช้ประโยชน์ได้ จุลินทรีย์บางชนิดสามารถตรึงไนโตรเจนจากอากาศให้เป็นประโยชน์แก่พืชได้ เช่น ไรโซเบียม นอกจากนี้ยังสร้างสารปฏิชีวนะช่วยป้องกัน กำจัดศัตรูพืชในดินได้อีกด้วย
การปรับปรุงดินในระบบเกษตรอินทรีย์
การปรับปรุงดินเพื่อสร้างความสมดุลให้แก่ดินโดยมีสมบัติที่ดีทั้งด้าน เคมี กายภาพและทางชีวภาพดังที่กล่าวมา มีข้อพิจารณาดังนี้
สิ่งที่อนุญาตให้ใช้ปรับปรุงดิน
(1) ปุ๋ยอินทรีย์ที่ผลิตจากวัสดุในไร่นา เช่น ปุ๋ยหมักจากเศษพืช ฟางข้าว ขี้เลื่อยเปลือกไม้ เศษไม้ และวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรอื่นๆ
(2) ปุ๋ยคอกจากสัตว์ที่เลี้ยงตามธรรมชาติ ไม่ใช้อาหารจากสิ่งมีชีวิตที่ผ่านการตัดแต่งพันธุกรรม (GMO) ไม่ใช้สารเร่งการเจริญเติบโต และไม่มีการทรมานสัตว์
(3) ปุ๋ยพืชสด เศษซากพืชและวัสดุเหลือใช้ในไร่นาในรูปอินทรีย์สาร
(4) ดินพรุที่ไม่เติมสารสังเคราะห์
(5) ปุ๋ยชีวภาพและจุลินทรีย์ที่พบทั่วไปตามธรรมชาติ
(6) ปุ๋ยอินทรีย์และสิ่งขับถ่ายจากไส้เดือนดินและแมลง
(7) ดินอินทรีย์ที่ได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการ
(8) ดินชั้นบน (หน้าดิน) ที่ปลอดจากการใช้สารเคมีมาแล้วอย่างน้อย 1 ปี
(9) ผลิตภัณฑ์จากสาหร่ายและสาหร่ายทะเลที่ได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการ
(10) ปุ๋ยอินทรีย์น้ำที่ได้จากพืชและสัตว์
(11)อุจจาระและปัสสาวะที่ผ่านกระบวนการหมักมาแล้ว (ใช้ได้เฉพาะกับพืชที่ไม่เป็นอาหารของมนุษย์เท่านั้น)
(12)ของเหลวจากระบบน้ำโสโครกจากโรงงานที่ผ่านกระบวนการหมักโดยไม่เติมสารสังเคราะห์ และไม่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อมที่ได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการ
(13) วัสดุที่เหลือใช้จากกระบวนการในโรงงานฆ่าสัตว์ โรงงานอุตสาหกรรม เช่น โรงงานน้ำตาล โรงงานมันสำปะหลัง โรงงานน้ำปลา โดยกระบวนการเหล่านั้นต้องไม่เติมสารสังเคราะห์ และต้องได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการ
(14) สารควบคุมการเจริญเติบโตของพืชหรือสัตว์ ซึ่งได้จากธรรมชาติ
(15)สารอนินทรีย์ ได้แก่ หินบด หินฟอสเฟต หินปูนบด (ไม่เผาไฟ) ยิบซั่ม แคลเซียม ซิลิเกต แมกนีเซียมซัลเฟต แร่ดินเหนียว แร่เฟลด์สปาร์ แร่เพอร์ไลท์ ซีโอไลท์ เบนโทไนท์ หินโพแทส แคลเซียมจากสาหร่ายทะเล และสาหร่ายทะเล เปลือกหอย เถ้าถ่าน เปลือกไข่บด กระดูกป่น และเลือดแห้ง เกลือสินเธาว์ บอแรกซ์ กำมะถัน และธาตุอาหารเสริมสำหรับพืช เช่น โบรอน ทองแดง เหล็ก แมงกานีส โมลิบดินัมและสังกะสี
สิ่งที่ไม่อนุญาตให้ใช้ปรับปรุงดิน
(1) กากตะกอนจากแหล่งน้ำโสโครก (ห้ามใช้กับผัก)
(2) สารเร่งการเจริญเติบโต
(3) จุลินทรีย์และผลิตภัณฑ์จากจุลินทรีย์ที่ผ่านการตัดต่อพันธุกรรม
(4) สารพิษตามธรรมชาติ เช่น โลหะหนักต่างๆ
(5) ปุ๋ยเทศบาล หรือ ปุ๋ยหมักจากขยะในเมือง
0 comments:
Post a Comment
เชิญร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น