17 October 2008

ปัจจัยความสำเร็จในการทำเกษตรกรรม

2 comments

การประกอบอาชีพเกษตรกรรมให้ประสบความสำเร็จได้นั้นต้องเข้าใจถึงปัจจัยที่มีผลต่อการผลิตด้านการเกษตร 3 ปัจจัยด้วยกัน คือ ปัจจัยทางกายภาพ ปัจจัยทางชีวภาพ และปัจจัยทางเศรษฐกิจสังคม ที่ต้องนำมาพิจารณา เพื่อคัดเลือกกิจกรรมให้เหมาะสมกับสภาพไร่นาของตน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ได้ผลิตผลที่มีปริมาณ และคุณภาพเป็นที่ต้องการของตลาด รวมถึงการอนุรักษ์และปรับสภาพแวดล้อมให้ดีขึ้นไปพร้อมกัน

 

ปัจจัยทางกายภาพ

ประกอบด้วย ดิน ซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญของการเกษตร เนื่องจากเป็นแหล่งอาหารการของพืชเป็นที่ค้ำจุนรากพืชทำให้ลำต้นตั้งตรงแข็งแรงเป็นที่ดูดซับน้ำสำหรับหล่อเลี้ยงต้นพืช ผลผลิตของพืชจะสูงหรือต่ำขึ้นอยู่กับความอุดมสมบูรณ์ของดินที่มีส่วนประกอบของธาตุอาหารสำคัญ คือ ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม รวมทั้งอินทรียวัตถุและธาตุอาหารรองอื่นๆ ที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของพืช
สภาพที่ดินของประเทศไทยมีหลายลักษณะ จึงทำให้มีผลผลิตทางการเกษตรหลากหลายแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับสภาพท้องถิ่น การจำแนกสภาพพื้นที่ดินของไทยแบ่งออกได้ดังนี้
ที่สูง หมายถึง พื้นที่สูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 700 เมตรขึ้นไป มีสภาพอากาศหนาวเย็นเกือบตลอดปีจึงเหมาะสำหรับปลูกลิ้นจี่ ลำไย เชอรี่ ท้อ ไม้ดอกไม้ประดับ และพืชผักเมืองหนาว
ที่ดอน ส่วนใหญ่อาศัยน้ำฝน เกษตรกรจะปลูก ข้าวโพด ข้าวฟ่าง ถั่วเขียว มันสำปะหลัง ปอ และข้าวไร่ ส่วนบริเวณที่สามารถเก็บกักน้ำได้จะใช้ทำนา ในแหล่งที่มีปริมาณฝนน้อย เช่น จังหวัดชัยภูมิและบางส่วนของจังหวัดนครราชสีมา จะเหมาะสมกับการเลี้ยงสัตว์ และปลูกมะม่วงแก้ว มะม่วงหิมพานต์ มะขามหวาน ซึ่งเป็นไม้ผลที่ทนต่อสภาพแห้งแล้งได้ดี
ที่ราบลุ่ม เหมาะสมสำหรับการทำนาโดยเฉพาะในเขตชลประทาน ดินค่อนข้างอุดมสมบูรณ์ มีน้ำอย่างพอเพียงจะสามารถปลูกข้าวได้ปีละ 2 ครั้งขึ้นไป บางแห่งเกษตรกรจะปรับเปลี่ยนสภาพนาเป็นร่องสวน เพื่อใช้ปลูกพืชผัก และปลูกไม้ผล ไม้ยืนต้นบางแห่งเกษตรกรจะขุดบ่อเลี้ยงปลาและกุ้ง ตัวอย่างเช่น ที่จังหวัดสุพรรณบุรี นครปฐม ปทุมธานี และพระนครศรีอยุธยา
ที่ลุ่มน้ำลึก ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาบางส่วน อ่างทอง สิงห์บุรี ชัยนาท และสุพรรณบุรี รวมเนื้อที่ประมาณ 6 ล้านไร่ พื้นที่ดังกล่าวเหมาะสำหรับปลูกข้าวขึ้นน้ำหรือข้าวฟางลอย เกษตรกรจะเริ่มเตรียมดินโดยการไถดะไถแปร เมื่อฝนเริ่มตกราวปลายเดือนเมษายนหรือต้นเดือนพฤษภาคม หลังการเตรียมดินเกษตร การจะหว่านเมล็ดข้าวแห้งแล้วไถกลบอีกครั้งหนึ่ง เมื่อเมล็ดข้าวได้รับความชื้นจะงอกและเจริญเติบโตอยู่ในสภาพไร่ระยะหนึ่ง เกษตรกรบางรายจะหว่านเมล็ดถั่วเขียวร่วมกับเมล็ดข้าวขึ้นน้ำ เกษตรกรบางรายอาจจะปลูกข้าวโพดเทียน ก่อนหว่านเมล็ดข้าว เกษตรกรเหล่านั้นจะเก็บเกี่ยว ถั่วเขียวและข้าวโพดเทียนพื่อจำหน่ายก่อนน้ำไหลบ่าเข้าท่วมทุ่ง และจะมีระดับน้ำลึกที่สุดประมาณ 125 เซนติเมตร ข้าวขึ้นน้ำก็ยังสามารถติดดอกออกผลได้เป็นปกติ เมื่อระดับน้ำลดลงในปลายเดือนธันวาคมไปจนถึงเดือนมากราคม เกษตรกรจะเก็บเกี่ยวผลผลิตเพื่อจำหน่ายและเก็บไว้บริโภค และทำพันธุ์บางส่วน

คุณภาพของดิน

มีความสำคัญในการเกษตรเป็นอย่างยิ่งเนื่องจากมีผลโดยตรงและทางอ้อมต่อพืชที่ปลูกผลทางตรงจะช่วยให้พืชเจริญเติบโตได้ดส่วนผลทางอ้อมหากปลูกพืชในดินที่ขาดธาตุฟอสฟอรัสเมื่อน้ำพืชที่ขาดธาตุฟอสฟอรัสไปเลี้ยงสัตว์จะมีผลทำให้กระดูกสัตว์ไม่แข็งแรงและเจริญเติบโตช้ากว่าปกติ
ความลึกของหน้าดิน การเพาะปลูกพืชจะได้ผลดีต้องมีหน้าดินลึก 100 เซนติเมตรเป็นอย่างน้อย เพื่อให้รากพืชสามารถหยั่งลงได้ลึกและหาอาหารได้ดีขึ้น
เนื้อดิน แบ่งออกเป็น ดินเหนียว ดินร่วน ดินทราย และดินตะกอน ในบริเวณที่เป็นดินตะกอนมักเป็นดินที่อุดมสมบูรณ์
-ดินร่วนนอกจากมีความอุดมสมบูรณ์สูงแล้วยังสามารถระบายน้ำได้ดีกว่าดินเหนียวอีกด้วย
-ดินทรายเป็นดินเนื้อหยาบมีธาตุอาหารต่ำ และถูกชะล้างได้ง่ายจึงไม่เหมาะสำหรับการเพาะปลูก
-ดินกรด หรือดินที่ชาวบ้านเรียกว่าดินเปรี้ยว มีสมบัติทางเคมีไม่เอื้อต่อการเจริญเติบโตของพืช เนื่องจากพิษของธาตุเหล็กและอลูมินั่ม ดินกรดชาวบ้านใช้วิธีทดสอบด้วยการบ้วนน้ำหมากลงในน้ำดินที่เป็นกรดน้ำหมากจะเปลี่ยนจากสีแดงเป็นสีดำคล้ำทันที วิธีแก้ความเป็นกรดทำได้ด้วยวิธีการใส่ปูนขาว หินปูน หรือปูนมาร์ล เพื่อลดความเป็นพิษของเหล็กและอลูมินั่มลง นอกจากนี้ยังช่วยให้ฟอสฟอรัสในดินเป็นประโยชน์ต่อพืชมากขึ้น
-ดินเค็ม เป็นที่มีเกลืออยู่ปริมาณมากจนเป็นอันตรายต่อพืชวิธีแก้ไขทำได้โดยไม่ปล่อยให้หน้าดินแห้ง เพราะจะทำให้น้ำใต้ดินนำเกลือขึ้นมาสะสมบนหน้าดิน หากดินยังมีความเค็มอยู่ให้เลือกปลูกข้าวพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 ละมุด พุทรา มะขาม มะพร้าว และมะม่วงหิมพานต์ เนื่องจากสามารถทนต่อความเค็มได้ดี

การปรับปรุงและรักษาสมบัติของดินเพื่อการเกษตรกรรม

ในดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ เนื่องจากใช้เพาะปลูกพืชมานานจำเป็นต้องปรับปรุงดินให้มีความอุดมสมบูรณ์เหมาะในการเพาะปลูกพืช หรืออย่างน้อยควรรักษาระดับความอุดมสมบูรณ์ของดินไม่ให้เสื่อมลง วิธีการปรับปรุงบำรุงดินทำได้หลายวิธี การใช้ปุ๋ย เป็นวิธีหนึ่งที่จะช่วยยกระดับผลผลิตให้สูงขึ้น ปุ๋ยที่ใช้มี 2 ชนิด ชนิดแรกคือ ปุ๋ยเคมี ที่มีส่วนประกอบสำคัญ ของธาตุไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียม หรืออาจมีธาตุรองอื่นๆ รวมอยู่ด้วยก็ได้ความต้องการปุ๋ยนั้นขึ้นอยู่กับชนิด และระยะการเจริญเติบโตของพืช ปุ๋ยเคมีเป็นธาตุที่พืชนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างรวดเร็ว และเกษตรกรใช้ได้สะดวก ปุ๋ยชนิดที่ 2 คือ ปุ๋ยอินทรีย์ ได้จากปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก และปุ๋ยพืชสด ปุ๋ยชนิดดังกล่าวนอกจากจะเพิ่มธาตุอาหารในดินแล้วยังช่วยปรับปรุงดินให้ร่วนซุย ไถพรวนง่ายดูดซับน้ำ ได้ดีทั้งนี้เกษตรกรสามารถใช้วัสดุเหลือใช้ในไร่นามาใช้ประโยชน์ได้ การปลูกพืชหมุนเวียนนิยมปลูกพืชตระกูลถั่วร่วมอยู่ด้วย เนื่องจากพืชตระกูลถั่วมีแบคทีเรียอาศัยอยู่ที่ปมราก สามารถตรึงไนโตรเจนให้เป็นประโยชน์ต่อพืชได้และการปลูกพืชคลุมดินจะช่วยไม่ให้หน้าดินถูกชะล้างได้ง่ายโดยเฉพาะในพื้นที่ลาดชัน

น้ำ

น้ำช่วยละลายธาตุอาหารในดิน ทำให้พืชนำไปใช้ประโยชน์ได้ดีขึ้น ช่วยลดอุณหภูมิในต้นพืชในขณะที่มีอุณหภูมิสูง แหล่งน้ำที่นำมาใช้ในการเกษตรได้มาจากน้ำฝน ห้วย หนอง คลอง บึง หรือ ได้จากเขื่อนโครงการชลประทานต่างๆ ดังนั้นการทำกิจกรรมการเกษตรใดๆ จะต้องพิจารณาถึงแหล่งน้ำเพื่อใช้เพาะปลูกพืชในฤดูแล้ง ปริมาณของน้ำจึงเป็นปัจจัยหนึ่งที่เป็นตัวควบคุมขนาดของพื้นที่การเกษตร อุณหภูมิ ปริมาณฝน แสงแดด และความเร็วลม รวมเรียกว่า สภาพลมฟ้าอากาศ จะมีผลต่อการเจริญเติบโตของพืช ซึ่งพืชแต่ละชนิดมีความต้องการอุณหภูมิและแสงแดดแตกต่างกันไป

 

ปัจจัยทางชีวภาพ

มักมีความสัมพันธ์กับปัจจัยทางเศรษฐกิจ สังคม และปัจจัยทางกายภาพ เช่น ในภาคใต้มีฝนตกชุก ดินอุดมสมบูรณ์ เกษตรกรจึงนิยมปลูกยางพาราเป็นพืชหลัก ซึ่งมีความเหมาะสมกับสภาพภูมิอากาศ ส่วนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือการกระจายของน้ำฝนไม่สม่ำเสมอ อีกทั้งความอุดมสมบูรณ์ต่ำ บางส่วนเป็นดินเค็ม เกษตรกรต้องคัดเลือกปลูกมันสำปะหลัง ปอ ข้าวฟ่าง และมะม่วงหิมพานต์ เนื่องจากทนต่อสภาพแห้งแล้งได้ดี ในบริเวณที่ลุ่มสามารถเก็บกักน้ำได้ เกษตรกรจะปลูกข้าวเหนียวไว้บริโภคในครัวเรือน ภาคเหนืออากาศหนาวเย็น เกษตรกรเลือกปลูกไม้ดอกไม้ประดับ ผักสลัด กะหล่ำปลี กุหลาบ สตรอเบอรี่ ลำไย ลิ้นจี่ และท้อ เป็นต้น ในที่ลุ่มภาคกลางมีระบบการชลประทานที่สมบูรณ์ จึงเป็นแหล่งผลิตข้างที่สำคัญของประเทศ การปลูกข้าวอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน จึงทำให้โรคและแมลงศัตรูพืชระบาด อย่างรุนแรง ดังนั้นเกษตรกรจึงต้องเปลี่ยนพันธุ์ข้าวทุก 3 - 5 ปี เช่น ในจังหวัดสุพรรณบุรีการใช้เปลี่ยนการใช้พันธุ์ข้าวจาก กข 7 และสุพรรณบุรี 60 มาใช้ สุพรรณบุรี 90 ปทุมธานี 1 และชัยนาท 1 ทดแทน เนื่องจากเหตุผลดังกล่าวข้างต้น

ปัจจัยทางเศรษฐกิจสังคม

นับว่ามีความสำคัญต่อการกำหนดทิศทางการพัฒนาการเกษตรเป็นอย่างมากตัวอย่างที่เห็นได้ง่ายเช่น ผลของการพัฒนาชนบทที่ผ่านมา มีการสร้างถนนหนทาง ไฟฟ้าและประปาในหมู่บ้าน โดยมีเป้าหมายเพื่อปรับปรับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้น ผลกระทบที่ตามมาคือชาวชนบทส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรต้องเพิ่มค่าใช้จ่ายในการซื้อรถจักรยนต์ พัดลม ตู้เย็น หรือแม้แต่โทรทัศน์ ซึ่งสิ่งอำนวยความสะดวกเหล่านี้บางชนิดอาจไม่จำเป็นต่อการดำรงชีพเลยก็มี ทั้งนี้องค์ประกอบทางเศรษฐกิจและสังคมมีความซับซ้อนมากขึ้น จึงเข้ามาเกี่ยวข้องกับการเกษตรอย่างหลีกเลี้ยงไม่ได้ ดังนั้นปัจจัยทางเศรษฐกิจและสังคมที่ควรนำมาร่วมพิจารณาก็คือ
แรงงาน หมายถึง การใช้กำลังกาย เข้าทำงาน เพื่อแลกกับเงินหรือสินค้าอย่างอื่น แล้วแต่จะตกลงกันระหว่างผู้จ้างและผู้ถูกจ้าง หากเกษตรกรใช้กำลังของตัวเองเรียกว่า การใช้แรงงานของตนเอง แรงงานที่ใช้ในการเกษตรมีหลายประการ คือ แรงงานที่ไม่ได้คิดเป็นตัวเงิน เช่น แรงงานในครอบครัว และแรงงานจ้างแบ่ง เป็นแรงงานจ้างตลอดปี และการจ้างบางฤดูหรือบางครั้งบางคราว ดังนั้น การพิจารณาการใช้ขนาดพื้นที่ของไร่นาต้องอาศัย จำนวนแรงงาน ทั้งนี้ลักษณะของพืชหรือสัตว์ที่ทำการผลิต ดังตัวอย่าง การปลูกผักจะใช้แรงงานมากกว่าการปลูกพืชไร่ในพื้นที่เท่ากันหรือการเลี้ยงโคนมต้องใช้ แรงงานมากกว่าวัวเนื้อ ทุน เป็นทั้งปัจจัยการผลิตมีที่เป็นตัวเงินและไม่ใช้ตัวเงิน ทั้งนี้พันธุ์สัตว์ พันธุ์พืช เครื่องมือ เครื่องจักรกลการเกษตร ขนาดเล็กและโรงเรือน จัดเป็นทุนประเภทคงทนถาวร ส่วนเมล็ดพืช อาหารสัตว์ สารเคมี น้ำมันเชื้อเพลิง และเงินที่ใช้จ่ายในการดำเนินการเพื่อซื้อปัจจัยการผลิต หรือเพื่อจ่ายค่าจ้างแรงงานจัดเป็นทุนประเภทหมุนเวียน ทั้งนี้การลงทุนในไร่นาของเกษตรกรย่อมจะแตกต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่น จะเห็นว่าเกษตรกรในภาคกลางจะลงทุนมากกว่าภาคอื่น ๆ อีกทั้งขนาดพื้นที่เฉลี่ยก็ยังมากที่สุดอีกด้วย เฉลี่ยประมาณ 30 ไร่ต่อครอบครัว นอกจากนี้แล้วดินยังมีความอุดมสมบูรณ์ค่อนสูง ทำให้มีการลงทุนด้านการใช้แรงงาน และเครื่องมือการเกษตรสูงกว่าภาคอื่น ๆ อีกด้วย ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือแม้ว่าขนาดพื้นที่ไร่นามีขนาดใกล้เคียงกับภาคกลางก็ตามแต่เป็นภาคที่มีการลงทุนต่ำที่สุด เนื่องจากดินขาดความอุดมสมบูรณ์นั่นเอง อีกทั้งการกระจายตัวปริมาณน้ำฝนไม่สม่ำเสมอ ทำให้มีฝนทิ้งช่วงในฤดูเพาะปลูกค่อนข้างยาวนาน ส่งผลทำให้การเพาะปลูกเสียหายอยู่เสมอ

ศาสนาและวัฒนธรรม มีอิทธิพลต่อการพัฒนาการเกษตรเป็นอย่างยิ่ง ตัวอย่างเช่นใน 4 จังหวัดภาคใต้ ตั้งแต่ สตูล ยะลา ปัตตานี ไป จนถึงนราธิวาส ที่ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม หากมีการส่งเสริมและพัฒนาให้เป็นแหล่งผลิตสุกรในภาคใต้ โอกาสของโครงการดังกล่าวจะประสบผลสำเร็จคงเป็นไปไม่ได้ เนื่องจากขัดต่อหลักศาสนา ตลาด การผลิตสินค้าเกษตรใดๆก็ตาม เมื่อผลิตได้มากเกินความต้องการของผู้บริโภค ปัญหาสินค้าล้นตลาดย่อมเกิดขึ้น ดังนั้นการจะผลิตสินค้าใดๆ ต้องให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดเป็นสำคัญเกษตรกรต้องจัดหา ตลอดในท้องถิ่นอย่างเหมาะสม ไม่เช่นนั้นแล้ว แม้ว่าผลผลิตจะมีคุณภาพดีเพียงใดก็ไม่เกิดประโยชน์ เมื่อไม่มีตลอดรองรับสินค้า สิ่งอำนวยความสะดวกที่รัฐจัดหาให้ ไม่ว่าจะเป็นถนน ไฟฟ้า และประปา ในชุมชนที่มีปัจจัยดังกล่าวครบบริบูรณ์ ย่อมมีต้นทุนการผลิตในการขนส่งต่ำ สินค้าที่นำส่งตลาดจะไม่บอบช้ำ เกษตรกรสามารถรับรู้ข้อมูลข่าวสารได้รวดเร็วกว่าในถิ่นที่ห่างไกลจากชุมชนออกไป จะเห็นได้ว่าผู้ประกอบอาชีพทางเกษตรกรจะต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไข และปัจจัยต่างๆ ซึ่งแตกต่างกันไป ทั้งนี้เกษตรกรจะต้องรู้จักวิธีจัดการทรัพยากรที่มีอยู่ในไร่นาให้เป็นระเบียบและเป็นระบบในสัดส่วนที่เหมาะสมประการสำคัญ การประกอบอาชีพเกษตรกรรมนั้นสมาชิกในครอบครัวจะต้องมีความพึงพอใจ มีเวลาพักผ่อนมีโอกาสไปวัดฟังธรรมและมีเวลาคบหาสมาคมกับเพื่อนบ้านได้ตามประเพณีอย่างเหมาะสมจึงจะนับว่า เกษตรกรผู้นั้นประสบผลสำเร็จในการประกอบอาชีพเกษตรกรรมได้อย่างมีความสุข

ที่มา : ศูนย์สารสนเทศ กรมวิชาการเกษตร

Read full story

11 October 2008

น้ำหมักชีวภาพและสารสกัดชีวภาพจากพืชสมุนไพร (3)

0 comments

สูตรกำจัดหนอนและแมลง

หางไหล 3 กิโลกรัม
เปลือกสะเดา 3 กิโลกรัม
หนอนตายหยาก 3 กิโลกรัม
ยาสูบ (ยาเส้น) 0.5 กิโลกรัม
เหล้าขาว 1 ขวด
น้ำส้มสายชู 1 ขวดกระทิงแดง

นำสมุนไพรมาทุบพอแตก เติมเหล้าขาวและน้ำส้มสายชู แล้วเติมน้ำให้ท่วม แล้วเติมกากน้ำตาลประมาณ 2 แก้ว หมักทิ้งไว้ 7 วัน ก็นำไปใช้ อัตรา 30 – 50 ซีซี./น้ำ 20 ลิตร

สูตรป้องกันราหรือไร

หัวเชื้อจุลินทรีย์ 1 ลิตร
กากน้ำตาล 1 ลิตร
ตะไคร้หอม 2 กิโลกรัม
ข่าแก่ 2 กิโลกรัม
ใบและเมล็ดสะเดา 2 กิโลกรัม

นำสมุนไพรมาโขลกให้แหลกพอประมาณ ใส่น้ำลงไปพอคั้นน้ำได้ แล้วคั้นน้ำสมุนไพรให้ได้ปริมาตร 3 ลิตร
นำหัวเชื้อจุลินทรีย์ผสมกากน้ำตาลแล้วผสมกับน้ำสมุนไพร ปิดฝาหมักทิ้งไว้ 3 วัน เมื่อครบกำหนดกรองเอาแต่น้ำ ประมาณ 0.5 ลิตรผสมน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นทุกๆ 3 วัน

สูตรกำจัดเพลี้ยไฟ

ใบยูคาลิปตัส 2 กิโลกรัม
ยอดสะเดา 2 กิโลกรัม
ข่าแก่ 2 กิโลกรัม
บอระเพ็ด 2 กิโลกรัม
หัวเชื้อจุลินทรีย์ 1 แก้ว
กากน้ำตาล 1 แก้ว

นำสมุนไพรแต่ละอย่างมาแยกใส่ปี๊บเติมน้ำให้เต็ม แล้วต้มจนน้ำแห้งเหลือน้ำครึ่งปี๊บ แล้วเทรวมกัน จึงใส่หัวเชื้อจุลินทรีย์ และกากน้ำตาล ปิดฝาหมักทิ้งไว้ 3 วัน จึงนำไปใช้ โดย 250 ซีซี. ต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่น หรือราดในนาข้าว

 

การใช้สารสกัดชีวภาพหรือน้ำหมักชีวภาพ

ควรใช้ร่วมกับปุ๋ยอินทรีย์ชนิดอื่น ๆ เช่น ปุ๋ยหมัก โดยใช้ปุ๋ยหมักคลุกเคล้าลงในดินขณะเตรียมดินปลูก แล้วใช้สารสกัดชีวภาพหรือน้ำหมักชีวภาพเสริมธาตุอาหารให้แก่พืชในขณะที่พืชกำลังเจริญเติบโต

ในการใช้แต่ละสูตรจะใช้ในแต่ละช่วงเวลาของการเจริญเติบโตของ เช่น สูตรฮอร์โมนจะนำไปใช้ในช่วงที่พืชกำลังจะออกดอกออกผล สูตรสมุนไพรจะใช้เฉพาะป้องกันกำจัดโรคและแมลงศัตรูพืชเท่านั้น เพราะฉะนั้นในการใช้จะมีข้อจำกัด โดยเฉพาะสูตรทั่วไปสามารถนำมาผสมกับสูตรฮอร์โมนได้ในการนำไปฉีดพ่นหรือราดลงดิน ส่วนสูตรสมุนไพรควรใช้ต่างหาก ไม่ควรนำมาผสมกับสูตรทั่วไปหรือสูตรฮอร์โมน เพราะในสูตรสมุนไพรจะมีสารออกฤทธิ์ฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ สิ่งที่เราต้องการในสูตรทั่วไปและสูตรฮอร์โมนนั้น นอกจากธาตุอาหารของพืชแล้วเรายังต้องการกลุ่มจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ ถ้าหากนำมาผสมและใช้ร่วมกับสูตรสมุนไพรจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ก็จะโดนทำลาย จุลินทรีย์ที่มีอยู่ในสารสกัดชีวภาพหรือน้ำหมักชีวภาพจะมีประโยชน์เมื่อนำไปฉีดพ่นพืชหรือราดลงในดิน จุลินทรีย์พวกนี้จะทำให้ดินโปร่ง ร่วยซุย และจะไปกำจัดจุลินทรีย์ที่ไม่มีประโยชน์ในดินและบนต้นพืช คือ จุลินทรีย์ก่อโรค นอกจากนั้นจุลินทรีย์ที่มีอยู่ในสารสกัดชีวภาพหรือน้ำหมักชีวภาพยังจะไปกำจัดจุลินทรีย์ที่ไม่มีประโยชน์      (จุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดการเน่าและมีกลิ่นเหม็น) ในฟาร์มของเกษตรกรได้อีกด้วย เช่น ฟาร์มสุกร หรือฟาร์มไก่ที่ส่งกลิ่นเหม็นเป็นมลพิษทางอากาศ เป็นต้น

อ้างอิง : ศูนย์วิจัยเพื่อเพิ่มผลผลิตทางเกษตร คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

Read full story

10 October 2008

0 comments

การส่งเสริมที่สำคัญอย่างหนึ่งที่กำลังเร่งกระทำอยู่ขณะนี้ คือ การเพิ่มผลผลิต โดยที่ถือว่าผลผลิตเป็นที่มาของรายได้ การผลิตนั้นทุกคนคงเห็นได้ไม่ยากว่า มีความเกี่ยวพันถึงความต้องการ ตลาด การจำหน่าย วิธีจัดกิจการ ตลอดจนถึงการนำรายได้ หรือผลประโยชน์จากการผลิตมาใช้สอยบริโภคด้วย ดังนั้นการเพิ่มผลผลิตที่ถูกต้อง จึงมิใช่การใช้วิชาการทางการเกษตรเพื่อเพิ่มปริมาณการผลิตแต่เพียงอย่างเดียว แต่หากต้องเป็นการใช้วิชาการทางการเกษตรประกอบกับวิชาการด้านอื่นๆ ช่วยให้ผู้ผลิตได้รับประโยชน์ตอบแทนแรงงาน ความคิด และทุนของเขาที่ใช้ไปในการผลิตอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ทั้งให้สามารถนำผลตอบแทนนั้นมาใช้สอยปรับปรุงฐานะความเป็นอยู่ให้มั่นคงขึ้นได้ด้วย

(พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
: ๑๘ กรกฎาคม ๒๕๑๑)

Read full story

น้ำหมักชีวภาพและสารสกัดชีวภาพจากพืชสมุนไพร (2)

0 comments

น้ำหมักชีวภาพ เป็นอีกทางเลือกหนึ่งของเกษตรกรที่สามารถนำมาใช้เป็นปุ๋ย และป้องกันกำจัดศัตรูพืชแทนการใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีกำจัดศัตรูพืชได้ น้ำหมักชีวภาพประกอบด้วยสารอินทรีย์ต่างๆหลายชินด เช่น ฮอร์โมน เอนไซม์ และธาตุอาหารต่างๆ เป็นสารเพิ่มความต้านทานต่อโรคและแมลงให้พืช เอนไซม์บางชนิดจะทำหน้าที่ย่อยอินทรีย์วัตถุให้เป็นอาหารของจุลินทรีย์ และเป็นอาหารของพืช ฮอร์โมนที่จุลินทรีย์สร้างขึ้นก็เป็นประโยชน์กับพืชถ้าให้ในปริมาณเล็กน้อย แต่หากเข้มข้นเกินไปจะทำให้พืชตายได้ ดังนั้น การใช้น้ำหมักชีวภาพจำเป็นต้องให้ในอัตราเจือจาง

น้ำหมักชีวภาพสูตรเร่งการออกดอกและบำรุงราก

ชนิดของน้ำหมักชีวภาพ

อาจแบ่งได้เป็น 3 ประเภทหลักๆ ดังนี้
1) สูตรบำรุงใบและลำต้น ได้จากการหมักพืชและเศษอาหาร ปลา และหอย
2) สูตรบำรุงดอกและผล ได้จากการหมักผลไม้สุกต่างๆ
3) สูตรป้องกันศัตรูพืช ได้จากการหมักพืชสมุนไพรต่างๆ

น้ำหมักชีวภาพสูตรเร่งการเจริญเติบโต

เศษผักชนิดอวบน้ำ 1 ส่วน
ผลไม้สุกทุกชนิด 2 ส่วน
หอยเชอรี่ 1 ส่วน
หัวเชื้อจุลินทรีย์ ร้อยละ 10 ของปริมาตรน้ำหมัก
กากน้ำตาล 1 ส่วน

เตรียมวัสดุหมักตามสูตรกำหนด ถ้าสามารถบดให้ละเอียดได้ยิ่งดี ใส่ลงในถังหมัก เติมกากน้ำตาลเติมน้ำให้พอท่วมวัสดุ แล้วเติมหัวเชื้อจุลินทรีย์ประมาณ ร้อยละ 10 ของปริมาตรน้ำหมัก ผสมให้เข้ากัน ปิดฝาหมักทิ้งไว้ประมาณหนึ่งสัปดาห์ นำไปผสมน้ำหนึ่งต่อหนึ่งพ่นฉีดพ่นสัปดาห์ละครั้ง


น้ำหมักชีวภาพ
สูตรเร่งการออกดอกและบำรุงราก

มะละกอสุก 20 กิโลกรัม
ฟักทองแก่จัด 20 กิโลกรัม
กล้วยน้ำว้าสุก 20 กิโลกรัม
หัวเชื้อจุลินทรีย์ 2 ลิตร
กากน้ำตาล 5 ลิตร
น้ำสะอาด 100 ลิตร

หั่นผลไม้ให้ละเอียดใส่ในถังผสมให้เข้ากันเติมเชื้อจุลินทรีย์และกากน้ำตาล เติมน้ำให้ท่วมคลุกเคล้าให้เข้ากัน ปิดฝาหมักทิ้งไว้ 7-10 วัน จึงนำไปผสมกับน้ำ 1 : 1000 ฉีดพ่นทางใบหรือราดลงดินช่วงที่พืชผักติดดอกสัปดาห์ละครั้ง


น้ำหมักชีวภาพ
สูตรฆ่าเพลี้ยและไรแดง

ใบสาบเสือ 5 กิโลกรัม
ใบน้อยหน่า 5 กิโลกรัม
ใบหรือดอกดาวเรือง 5 กิโลกรัม
ใบสะเดา/เมล็ด 5 กิโลกรัม
โหระพา 2 กิโลกรัม
กระเทียม 1 กิโลกรัม

โขลกส่วนผสมหรือทุบให้แตก หมักในถังที่มีส่วนผสมของเหล้าขาว 40 ดีกรี (หรือใช้เอทานอล 70% เจือจาง) และน้ำส้มสายชู 5% อัตราส่วน 2 : 1 ให้ท่วมวัสดุหมักแล้วเติมหัวเชื้อจุลินทรีย์ร้อยละ 10 ของปริมาตรน้ำหมัก หมักทิ้งไว้อย่างน้อย 1 คืน

วิธีใช้ผสมสารสกัดกับน้ำอัตราส่วน 1 : 5 และเติมน้ำสบู่เหลว (สารจับใบ) เล็กน้อย แล้วนำไปฉีดพ่นทุกๆ 3 วัน

 

น้ำหมักชีวภาพสูตรกำจัดหนอนกัดกินใบและหนอนใยผัก

ใบสะเดา 2 ส่วน
ตะไคร้หอม 2 ส่วน
ขมิ้นชัน 1 ส่วน
ข่าแก่ 1 ส่วน

โขลกวัสดุให้แหลก หมักผสมกับน้ำ 8 ส่วนทิ้งไว้ 1 คืนจึงนำไปฉีดพ่น

 

น้ำหมักชีวภาพสูตรควบคุมหนอน แมลงวันและด้วงเต่าแตง

ขี้เถ้าไม้ และปูนขาวอย่างละ 1 กิโลกรัม ผสมน้ำ 8 ลิตรทิ้งไว้ให้ตกตะกอนประมาณ 1 คืน นำไปฉีดพ่นทุก 5 วัน

 

ในการปลูกแตงกวา สามารถใช้น้ำหมักชีวภาพสูตรต่างๆเพื่อป้องกันเพลี้ยไฟ (Haplotrips floricola) เพลี้ยอ่อน (Aphids gossypii)  ไรแดง (Tetramychus spp.)  เต่าแตงแดงและเต่าแตงดำ
สำหรับโรคราน้ำค้าง ใบด่าง ผลเน่า จะใช้บาซิลลัส ซับทิลิส (Bacillus subtilis : BT) หมักกับกากน้ำตาลเติมอากาศขยายเพิ่มจำนวน ฉีดพ่นทุกสัปดาห์

 

ประโยชน์ของการใช้น้ำหมักชีวภาพ

1) ลดค่าใช้จ่ายและต้นทุนในการเพาะปลูก
2) ผลผลิตปราศจากสารเคมีตกค้าง ปลอดภัยต่อการบริโภค
3) ช่วยปรับสภาพของดินให้ดีขึ้น ดินโปร่ง ร่วนซุย และลดการเสื่อมสภาพของดิน
4) ช่วยในการย่อยสลายอินทรีย์สารในดินได้ดีและเร็วขึ้น

link_icon สูตรการขยายเชื้อแบคทีเรีย B. subtilis (บาซิลลัส ซับทิลีส)

Read full story

09 October 2008

น้ำหมักชีวภาพและสารสกัดชีวภาพจากพืชสมุนไพร (1)

0 comments

น้ำหมักชีวภาพเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งของเกษตรอินทรีย์ ซึ่งผลิตได้จากการนำเอาเศษวัสดุเหลือทิ้ง เช่น เศษพืชผัก หรือ สัตว์ที่ยังสดอยู่ มาหมักให้เกิดการย่อยสลายโดยจุลินทรีย์ที่ติดมากับวัตถุดิบหรือจุลินทรีย์ที่เติมลงไปโดยใช้กากน้ำตาลเป็นสารอาหารสำหรับจุลินทรีย์ จนได้ผลิตภัณฑ์เป็นของเหลวประกอบไปด้วยกรดอินทรีย์ กรดอะมิโน กรดฮิวมิก วิตามิน แร่ธาตุ และฮอร์โมนพืช ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้พืชเจริญเติบโตได้ดี ดังนั้นเกษตรกรส่วนใหญ่จึงเรียกน้ำหมักชีวภาพว่า “ปุ๋ยอินทรีย์น้ำ”
         

การทำน้ำหมักชีวภาพ

การทำน้ำหมักชีวภาพโดยใช้วัสดุเหลือทิ้งจากการเกษตรมีส่วนประกอบดังนี้ เศษผักและเศษผลไม้ต่างๆ เศษปลา เศษหอย กากน้ำตาล (ใช้น้ำตาลทรายแดงแทนก็ได้) และหัวเชื้อจุลินทรีย์

(1) น้ำหมักชีวภาพจากพืช

นำเศษผักหรือผลไม้ที่สับ หรือบดให้ละเอียดผสมกับกากน้ำตาลอัตราส่วนประมาณ 3 ต่อ 1 คลุกให้เข้ากันใส่ในถังหรือโอ่งที่มีฝาปิดมิดชิด แล้วเติมหัวเชื้อจุลินทรีย์ประมาณ 1 ต่อน้ำหมัก 1 ใบ ประมาณ 20 กิโลกรัม คนให้เข้ากัน เพื่อเร่งอัตราการย่อยสลาย ใช้ของหนักกดทับ โดยปล่อยทิ้งไว้ประมาณ 10 – 15 วัน ถ้าเป็นฤดูร้อนอาจใช้เวลาสั้นกว่านี้ จะได้น้ำหมักเป็นของเหลวข้น

เมื่อต้องการใช้นำไปผสมน้ำอัตราส่วน 1 : 500 หรือ 1 : 1000 สามารถใช้รดโคนต้น หรือฉีดพ่นทางใบ ถ้ามีการใช้ร่วมกับการใช้ปุ๋ยอินทรีย์จะช่วยเร่งการเจริญเติบโตของพืชได้ดี

(2) การทำน้ำหมักชีวภาพจากเศษปลา

นำเศษปลาสดผสมกับกากน้ำตาลอัตราส่วน 2 ต่อ 1 ให้ได้ปริมาณ 30 กิโลกรัมและหัวเชื้อจุลินทรีย์ 1 ลิตรหมักใส่ในถังปิดฝาให้สนิทประมาณ 20 – 30 วัน ถ้าจะป้องกันการเน่าเหม็นอาจใช้น้ำผลไม้รสเปรี้ยว เช่น มะนาว หรือใช้เศษเปลือกสับปะรด เพราะกรดจากผลไม้ช่วยให้ค่าความเป็นกรดด่างลดลงป้องกันไม่ให้เกิดการเน่าเหม็น ส่วนสับปะรดมีเอนไซม์ (น้ำย่อย) ช่วยเร่งการย่อยสลายโปรตีนจากปลา

เมื่อต้องการนำไปใช้ให้ผสมน้ำอัตราส่วน 1 : 1000 ฉีดพ่นทางใบทุกๆ 1 สัปดาห์ หรือ 1 : 500 รดโคนต้นไม้ 2 – 3 เดือนครั้ง

 

ข้อควรพิจารณาในการทำน้ำหมักชีวภาพ

1)ความเป็นกรด ด่าง หลังสิ้นสุดกระบวนการหมัก ควรอยู่ระหว่าง 3 – 4 ถ้าไม่นำไปใช้ค่าจะเพิ่มขึ้น 4 – 4.8
2)มีค่าการนำไฟฟ้าซึ่งแสดงถึงความเข้มข้นของปริมาณธาตุอาหาร ยิ่งสูงยิ่งมีแร่ธาตุมาก
3)กรดฮิวมิกซึ่งมีคุณสมบัติคล้ายกับฮอร์โมนพืช ถ้าเป็นน้ำหมักชีวภาพจากพืชมีค่าระหว่าง 0.5 – 1.0 %
4)กรดอินทรีย์ เช่น กรดแลกติก กรดแอซิติก ซึ่งมีประโยชน์ช่วยควบคุมการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ที่ทำให้เน่าเสีย ยับยั้งกิจกรรมจุลินทรีย์ที่เปลี่ยนรูปไนโตรเจนเป็นแอมโมเนีย และช่วยละลายสารประกอบอนินทรีย์ของแร่ธาตุบางชนิด เช่น แคลเซียมฟอสเฟต

Read full story

08 October 2008

เทคนิคการเพาะเลี้ยงจุลินทรีย์

0 comments

เชื้อจุลินทรีย์คือกุญแจสำคัญของระบบนิเวศ การทำการเกษตรจำเป็นต้องอาศัยกิจกรรมของ จุลินทรีย์ที่ช่วยย่อยสลายอินทรียวัตถุให้เป็นแร่ธาตุอาหาร ซึ่งต้องให้อยู่ในรูปสารอนินทรีย์เพื่อจะละลายน้ำได้ง่ายและพืชสามารถดูดซึมเอาไปใช้ได้ทันที แต่ผลจากการทำการเกษตรที่ไม่ถูกวิธี คือ การเผาเศษพืช การใช้ปุ๋ยเคมีเป็นเวลานานติดต่อกัน ประกอบกับประเทศไทยตั้งอยู่ในเขตร้อนชื้นการสลายตัวของอินทรียวัตถุเป็นไปอย่างรวดเร็ว ส่งผลทำให้ดินเสื่อมคุณภาพและปริมาณจุลินทรีย์ที่อาศัยอยู่ในดินน้อยลง จนไม่สามารถสร้างความสมดุลให้กับระบบนิเวศในดินได้

การนำเอาหัวเชื้อจุลินทรีย์ที่เป็นผลงานจากหน่วยงานทางราชการพัฒนาคิดค้นขึ้นใช้ในการปรับปรุงดินจึงเป็นแนวทางที่ช่วยเร่งการฟื้นฟูสภาพดินได้เร็วขึ้น แต่การใช้หัวเชื้อจุลินทรีย์ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในรูปผง หรือเป็นหัวเชื้อเข้มข้นที่บรรจุในขวดมีอายุการผลิตหลายสัปดาห์หรือหลายเดือนมาแล้ว จะทำให้มีปริมาณจุลินทรีย์ต่ำกว่าที่ควรจะเป็นเนื่องจากจุลินทรีย์จะตายระหว่างการเก็บรักษาและรอจำหน่าย ดังนั้นจึงจำเป็นต้องเพาะเลี้ยงขยายหัวเชื้อจุลินทรีย์เพื่อเพิ่มจำนวนมีปริมาณมากๆและเป็นการฟื้นฟูกำลังจุลินทรีย์ให้มีความแข็งแรง เมื่อนำไปใช้ทั้งใช้เร่งในกองปุ๋ยหมัก หรือราดลงดินก็พร้อมจะมีกิจกรรมได้ทันที

 

วิธีการเพาะเลี้ยงหัวเชื้อจุลินทรีย์

วัสดุและอุปกรณ์
1)กากน้ำตาลปริมาณ 100 ลิตร (สามารถใช้น้ำตาลทรายแดงแทนได้ น้ำหนักประมาณ 50 กิโลกรัม)
2)หัวเชื้อจุลินทรีย์ของ พด. 20 ถุง หรือ อีเอ็ม 20 ลิตร
3)ถังหมักขนาด 150 ลิตร จำนวน 10 ใบ
4)ปั้มลมให้อากาศ สามารถใช้ปั้มลมที่ใช้กับตู้ปลาก็ได้ โดยต่อสายยางแยกใช้หัวทรายพ่นให้อากาศแก่จุลินทรีย์ในถังให้ครบ 10 ใบ

วิธีการ
1)เติมน้ำสะอาดลงในถังขนาด 150 ลิตร ให้ได้ปริมาณประมาณ 3 ใน 4 ของความสูงถังหรือประมาณ 100 - 120 ลิตร
2)เติมน้ำตาลหรือกากน้ำตาลประมาณ 10% - 15% ของปริมาตรน้ำ
3)เทหัวเชื้อจุลินทรีย์ 1 ขวด หรือ 1 ลิตร หรือ 1 ซองลงในถัง กวนผสมให้เข้ากัน
4)ต่อสายยางท่อให้อากาศจากปั้มลม โดยให้อากาศอย่างต่อเนื่องผ่านหัวทรายเป็นเวลา 5 – 7 วัน เชื้อจุลินทรีย์จะขยายเพิ่มจำนวนพร้อมนำเอาไปใช้

หัวเชื้อจุลินทรีย์
หัวเชื้อจุลินทรีย์ที่เลี้ยงได้ 3 วัน

 

การนำเชื้อจุลินทรีย์ไปใช้

ใช้เป็นหัวเชื้อในการทำปุ๋ยหมักโดยการราดลงบนกองปุ๋ยระหว่างที่มีการคลุกผสมวัสดุต่างๆให้เข้ากัน หรือนำไปผสมกับกากน้ำตาล 1 ลิตรใช้น้ำ 20 ลิตร แล้วใช้หัวเชื้อเจือจางให้ได้อัตราส่วน 1 : 500 เพื่อราดลงดิน

หัวเชื้อจุลินทรีย์ที่เพาะเลี้ยงขยายไว้นี้สามารถใช้เป็นหัวเชื้อในการทำน้ำหมักชีวภาพได้อีกด้วย โดยใช้เติมลงในถังน้ำหมักชีวภาพถังละ 1 ลิตร

Read full story

07 October 2008

สูตรการขยายเชื้อแบคทีเรีย B. subtilis (บาซิลลัส ซับทิลีส)

0 comments

Bacillus Subtilis

เชื้อแบคทีเรีย บาซิลัส ซับทีลิส (บี เอส) มีคุณสมบัติสำหรับป้องกันกำจัดโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา สาเหตุ และเชื้อแบคทีเรียสาเหตุของโรคพืชได้หลายชนิด เช่น โรครากเน่าโคนเน่าในทุเรียน โรคเหี่ยวเขียวในพริก มะเขือ ยาสูบ โรคใบจุดสีม่วงในต้นหอม โรคหัวเน่าเละในพืชพวกขิง ข่า เป็นต้น และยังเป็นจุลินทรีย์ ที่ไม่เป็นพิษต่อมนุษย์ สัตว์ และไม่มีพิษตกค้างต่อสิ่งแวดล้อม

 

อุปกรณ์ในการขยายเชื้อ

1. หัวเชื้อ Bs. (เชื้อแห้งชนิดผง)  60 กรัม
2. ถังหมัก                             150 ลิตร
3. ไข่ไก่                                   5 ฟอง
4. น้ำตาล                                 5 กิโลกรัม
5. น้ำเต้าหู้                             0.5 ลิตร
6. ปั๊มลมให้อากาศ

 

วิธีการขยายเชื้อ

1. เติมน้ำเปล่าลงในถังหมัก จำนวน 100 ลิตร
2. ละลายน้ำตาลกับน้ำในถัง จากนั้นใส่น้ำเต้าหู้ลงไปคนให้เข้ากัน
3. ตีไข่แล้วเติมลงไปในถัง คนให้เข้ากัน
4. ใส่หัวเชื้อผงของ Bs. ประมาณ 3 ช้อนโต๊ะ
5. คนให้เข้ากัน ต่อปั๊มลมเพื่อเติมอากาศลงไป หลังจากนั้น 3 – 5 วัน สามารถนำไปใช้ได้

การนำเชื้อบีเอสไปใช้

นำเชื้อบาซิลัส ซับทีลีสไปผสมน้ำในอัตราส่วน 1 : 5 (เชื้อที่ทำการเพาะเลี้ยงไว้ 1 ส่วน ต่อ น้ำสะอาด 5 ส่วน) ราดรองก้นหลุมก่อนลงปลูก หรือใช้ราดบริเวณโคนต้น เพื่อป้องกันเชื้อแบคทีเรียสาเหตุโรคเหี่ยว และโรคเน่าของพืช
ข้อแนะนำ  ควรใช้ให้หมดภายใน 15 วัน เพื่อประสิทธิภาพของเชื้อสด

Read full story

05 October 2008

โรคราน้ำค้างในพืชตระกูลแตง

0 comments

โรคราน้ำค้าง

โรคราน้ำค้าง (Downy mildew) หรือที่เกษตรกรเรียกว่า "โรคใบลาย" เป็นโรคที่มีความสำคัญมากที่สุดโรคหนึ่งของแตงกวาและพืชวงศ์แตงในประเทศไทย มีรายงานพบการระบาดของโรคนี้ในแหล่งปลูกพืชวงศ์แตงอยู่ทั่วโลกในพื้นที่ซึ่งมีความชื้นและอุณหภูมิเหมาะต่อการเข้าทำลายของเชื้อรา โรคราน้ำค้างมักจะเกิดขึ้นในเขตอบอุ่นและเขตร้อนชื้นที่มีปริมาณน้ำฝนและน้ำค้างพอเพียงกับระยะเวลาที่จะก่อให้เกิดการระบาดของโรคขึ้นได้ ถ้าหากไม่มีมาตรการควบคุมโรคที่ดีพอแล้ว จะก่อให้เกิดความเสียหายรุนแรงกับแตงกวา แตง สควอช ฟักทอง แตงโม และพืชวงศ์แตงชนิดอื่นทั้งในสภาพการปลูกในแปลง ในโรงเรือน และในสภาพการปลูกแบบอื่นๆ 

สาเหตุของโรค

เกิดจากการเข้าทำลายของเชื้อรา Pseudoperonospora cubensis (Berk.& M. A. Curtis) Rostovzev ที่สามารถเข้าทำลายได้เฉพาะในพืชวงศ์แตง

 

อาการของโรค

อาการจะเกิดเป็นปื้นเหลืองบนใบ ด้านหลังของใบอาจมองเห็นกลุ่มของเส้นใยหรือบางครั้งมองไม่เห็นด้วยตา ปื้นสีเหลืองนั้นต่อไปจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล โดยเริ่มเปลี่ยนจากกลางแผลออกไป ถ้าสภาพอากาศเหมาะต่อการเจริญของเชื้อคือ   อุณหภูมิ 16-22 องศาเซลเซียส และความชื้นสูง  จะทำให้มีการระบาดของโรคอย่างรวดเร็วทำให้ ใบของแตงแห้งและทำให้ต้นตาย ในแคนตาลูปและแตงโม จะทำให้ความหวานลดลง เกษตรกรสามารถสังเกตเห็นอาการผิดปกติที่บริเวณใบแก่ และโคนเถาจะแสดงอาการก่อน คือ มีแผลสี่เหลี่ยมสีน้ำตาลอ่อนประปรายทั่วไป ทำให้ใบแห้งและเหี่ยว เมื่อโรคระบาดรุนแรงจะทำให้เถาแตงเหี่ยวตายหมดทั้งเถา ในช่วงมีอากาศชื้นเมื่อพลิกดูด้านท้องใบจะมีขุยของราสีขาวหม่นคล้ายผงแป้ง โรคนี้จะระบาดรุนแรงและรวดเร็วเมื่อแตงอยู่ในระยะกำลังให้ผล ทำให้เถาแตงตายไปก่อนที่จะเก็บเกี่ยว

 

การแพร่กระจายของเชื้อ

จะปลิวไปตามลม แต่บางครั้งระบาดได้โดยติดไปกับแมลงบางชนิด เช่น ด้วงเต่าแตง ฯลฯ กรณีที่โรคระบาดรุนแรง อาจทำให้ผลผลิตแตงกวาลดลงมากกว่าร้อยละ 50

การป้องกันและกำจัด

กรมส่งเสริมการเกษตร แนะนำการป้องกันและกำจัด ดังนี้
1) ควบคุมโรคโดยชีววิธี โดยใช้เชื้อราไตรโคเดอร์ม่าอัตรา 1 กิโลกรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือเชื้อแบคทีเรีย บีเอส (บาซิลลัส ซับทิลิส) อัตราการใช้ตามฉลาก เมื่อเริ่มพบอาการของโรคให้ฉีดพ่นบริเวณที่เกิดอาการของโรคในช่วงเวลาเย็นแดดอ่อน
2) เก็บใบหรือส่วนของพืชที่เป็นโรคนำไปเผาทำลาย
3) คลุกเมล็ดพันธุ์ก่อนปลูกด้วยเชื้อราไตรโคเดอร์ม่าหรือเชื้อแบคทีเรียบีเอส (บาซิลลัส ซับทิลิส) หรือแช่เมล็ดในน้ำอุ่นอุณหภูมิ 50 องศาเซลเซียส นาน 20 – 30 นาที
4) บำรุงรักษาต้นให้สมบูรณ์ จะช่วยให้พืชไม่อ่อนแอต่อโรค

 

link_icon วิธีการเพาะเลี้ยงเชื้อราไตรโคเดอร์มา

 

อ้างอิง : กรมส่งเสริมการเกษตร

Read full story

04 October 2008

การปรับปรุงคุณภาพดินสู่ระบบเกษตรอินทรีย์ (6)

0 comments

 

ปุ๋ยหมัก

ปุ๋ยหมัก เป็นปุ๋ยอินทรีย์ชนิดหนึ่งที่ได้จากการนำเอาวัสดุอินทรีย์ที่เหลือทิ้งในไร่นามาหมักรวมกันแล้วปรับสภาพให้เกิดการย่อยสลายโดยอาศัยกิจกรรมของจุลินทรีย์

การใช้ปุ๋ยหมักในแปลงเกษตรอินทรีย์มีประโยชน์หลายประการดังนี้
(1) เพิ่มปริมาณอินทรียวัตถุให้แก่ดินและเพิ่มปริมาณธาตุอาหารให้แก่พืช
(2) ช่วยรักษาความอุดมสมบูรณ์ให้แก่ดิน โดยธาตุอาหารพืชค่อยละลายออกมา
(3) ช่วยปรับโครงสร้างดิน โดยดินเหนียวจะมีความร่วนซุย และดินทรายมีการยึดเกาะกันมากขึ้น ทำให้ดินมีความสามารถในการอุ้มน้ำในสภาพที่เหมาะสมแก่พืช
(4) เป็นแหล่งอาหารแก่จุลินทรีย์ที่อาศัยอยู่ในดินและช่วยเพิ่มปริมาณจุลินทรีย์ ทำให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์มากขึ้น

การทำปุ๋ยหมักที่ปล่อยให้เกิดการย่อยสลายตามธรรมชาติใช้เวลานานอาจถึง 3 เดือน ซึ่งปัจจุบันมีหน่วยงานต่างๆ ของทางราชการหลายหน่วยได้คิดค้นหัวเชื้อจุลินทรีย์ใช้เป็นตัวเร่งการย่อยสลาย เช่น กรมพัฒนาที่ดิน มีหัวเชื้อชื่อ “สารเร่ง พด.” หัวเชื้อจุลินทรีย์ของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ เป็นต้น โดยหัวเชื้อนี้ประกอบด้วยจุลินทรีย์หลายชนิด ทั้งเชื้อรา แบคทีเรีย และแอคติโนมัยซีส

หัวเชื้อที่เป็นตัวเร่งในการทำปุ๋ยหมัก มี 2 แบบ คือ
1) แบบแห้ง สามารถโรยใส่กองปุ๋ยหมักตามคำแนะนำข้างซอง
2) หัวเชื้อที่เป็นของเหลว ควรทำการขยายหัวเชื้อด้วยการเลี้ยงในกากน้ำตาลผสมน้ำอัตราส่วนกากน้ำตาล 1 ส่วนต่อน้ำ 20 ส่วนโดยใช้หัวเชื้อ 2 ลิตรใส่ในถังขยาย 100 ลิตร หมักทิ้งไว้ด้วยการให้อากาศผ่านปั้มลมประมาณ 4-5 วัน

 

การทำปุ๋ยหมักจากเศษมะเขือม่วง

เนื่องจากในกระบวนการคัดแยกมะเขือม่วงเพื่อใช้ในการแปรรูป จะมีมะเขือม่วงบางส่วนที่ไม่ผ่านมาตรฐาน จึงสามารถนำมาใช้ทำปุ๋ยหมัก เพื่อลดปริมาณขยะ และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับขยะมะเขือม่วงได้

การทำปุ๋ยหมัก 1,000 กิโลกรัม (1 ตัน) มีส่วนผสมดังนี้

1. เศษมะเขือม่วงสับหรือบดให้แหลก 600 กิโลกรัม
2. ปุ๋ยคอก (ขี้วัว)         300 กิโลกรัม
3. รำอ่อน 2 กระสอบ     (50 กิโลกรัม)
4. โดโลไมท์                  50 กิโลกรัม

วิธีการทำปุ๋ยหมักให้คลุกส่วนผสมทั้งหมดเข้าด้วยกันแล้วราดหัวเชื้อจุลินทรีย์ที่เลี้ยงขยายโดยผสมกากน้ำตาลเจือจาง 1 ลิตร ต่อ น้ำ 50 ลิตร เพื่อให้จุลินทรีย์ไปช่วยย่อยสลายอินทรียวัตถุให้มีขนาดเล็กลง สามารถปลดปล่อยธาตุอาหารให้ต้นพืชเอาไปใช้ได้ กลับกองปุ๋ยสัปดาห์ละครั้ง ใช้เวลาหมักประมาณ 1 เดือน ก็ใช้ได้ เมื่อนำปุ๋ยหมักอินทรีย์ไปใส่ในแปลงปลูกอินทรีย์วัตถุทั้งหลายจะถูกย่อยสลายและเปลี่ยนเป็นฮิวมัส ซึ่งเป็นแหล่งธาตุไนโตรเจนพืช ขี้วัวจะให้ธาตุอาหารพวกฟอสฟอรัส และโพแทสเซียม ส่วนโดโลไมท์ เป็นแหล่งธาตุอาหารรอง ได้แก่ แคลเซียม และแมกนีเซียม

 

โรยโดโลไมท์ กลับกองปุ๋ยหมัก
(ซ้าย) กองปุ๋ยหมักที่โรยด้วยโดโลไมท์
(ขวา) การกลับกองปุ๋ยหมักจากเศษมะเขือ

การดูแลกองปุ๋ยหมัก

(1)กองปุ๋ยหมักที่ทำไว้ทั้งกลางแจ้งและในโรงเรือนควรรักษาความชื้นให้พอเหมาะ มีวิธีทดสอบง่ายๆ คือ ใช้มือล้วงแล้วบีบเนื้อปุ๋ยเกาะติดกันโดยน้ำไม่ซึมหยดออกจากง่ามนิ้วมือ ถ้าไม่เกาะติดกันแสดงว่าความชื้นน้อยต้องรดน้ำ แต่ถ้าน้ำซึมออกมามากความชื้นมากเกิน ซึ่งทั้งสภาพ 2 แบบจะทำให้การย่อยสลายของกองปุ๋ยช้ากว่าปกติ นอกจากนี้ควรกลับกองปุ๋ยทุกๆ 7-10 วัน เพื่อเป็นการระบายความร้อน และยังเติมอากาศให้กับจุลินทรีย์กลุ่มที่ต้องการอากาศอีกด้วย
(2) กองปุ๋ยหมักกลางแจ้งควรระวังเรื่องฝนที่ตกลงมาชะล้างธาตุอาหาร
(3) เมื่อจะนำเอาปุ๋ยหมักไปใช้ควรให้อุณหภูมิกองปุ๋ยเย็นลงพอๆกับอุณหภูมิภายนอก หรือสีของปุ๋ยคล้ำเป็นสีน้ำตาล จึงค่อยนำเอาไปใช้

 

การใช้ปุ๋ยหมัก

เมื่อปุ๋ยหมักผ่านกระบวนการหมักจนได้ที่แล้ว การนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์กับพืชนั้นควรดูลักษณะของดินด้วย กรณีที่ดินไม่มีความอุดมสมบูรณ์ขาดอินทรีย์วัตถุ แร่ธาตุอาหารน้อย ดังภาพ จะรวมกันเป็นก้อนแข็งไม่ร่วนซุย สีซีดจาง ดังนั้นควรใช้วิธีใส่ปุ๋ยหมักรองพื้นก่อนปลูกพืช อัตราส่วน 2 ตันต่อไร่ แล้วไถคลุกกับดินทิ้งไว้ประมาณ 2 สัปดาห์ เพื่อให้มีการปลดปล่อยแร่ธาตุอาหารพืช หลังจากนั้นจึงค่อยปลูกพืช และมีการใส่ปุ๋ยหมักเป็นระยะๆ ร่วมกับการใช้ปุ๋ยอินทรีย์น้ำ (น้ำหมักชีวภาพ) ฉีดพ่นทางใบ วิธีนี้พืชจะตอบสนองต่อแร่ธาตุอาหารได้ดีและเจริญเติบโตดี

ดินขาดอินทรีย์วัตถุ

Read full story

03 October 2008

การปรับปรุงคุณภาพดินสู่ระบบเกษตรอินทรีย์ (5)

0 comments

วิธีการปรับปรุงคุณภาพดิน

ผลกระทบจากการใช้สารเคมีทางการเกษตรนอกจากจะก่อให้เกิดสารพิษตกค้างในผลิตผลการเกษตรซึ่งเป็นอันตรายโดยตรงต่อผู้บริโภคแล้วยังสะสมสารพิษในดินจนดินเสื่อมสภาพ สิ่งมีชีวิตในดินถูกทำลาย หรือเรียกว่า “ดินตาย” ดังนั้นการปรับปรุงคุณภาพดินให้มีชีวิตโดยการพึ่งพาธรรมชาติหรือเลียนแบบวิธีธรรมชาติด้วยการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยชีวภาพ หรืออินทรียวัตถุ เพื่อปรับปรุงโครงสร้างของดินให้เกิดความสมดุลดังมีรายละเอียดต่อไปนี้

ปุ๋ยคอก

ปุ๋ยคอกเป็นแหล่งธาตุอาหารของพืชที่หาได้ง่ายและราคาถูก เนื่องจากเกษตรกรไทยส่วนใหญ่นิยมเลี้ยงสัตว์ควบคู่ไปกับการปลูกพืช โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเลี้ยง โค กระบือ ไก่ เป็ด และสุกร ทำให้ได้มูลสัตว์เป็นจำนวนมาก เมื่อนำมาผ่านกระบวนการหมักแล้ว สามารถนำเอาไปใช้ในพื้นที่แปลงเกษตรกรได้ทันที ในปุ๋ยคอกมีจุลินทรีย์ อินทรีย์วัตถุ วิตามิน และฮอร์โมนพืชบางชนิด แต่เมื่ออินทรียวัตถุถูกจุลินทรีย์ย่อยสลายแล้ว ทำให้ธาตุอาหารบางส่วนละลายไปกับน้ำและบางส่วนระเหยเป็นก๊าซ เช่น คาร์บอนไดออกไซด์ หรือไนโตรเจนเปลี่ยนอยู่ในรูปก๊าซแอมโมเนียที่มีกลิ่นฉุน ในปุ๋ยคอกแต่ละชนิดมีธาตุอาหารพืชไม่เท่ากันขึ้นอยู่กับชนิดของสัตว์

ปริมาณธาตุอาหารหลักของพืชในปุ๋ยคอกแต่ละชนิด

ชนิดของปุ๋ยคอก    ไนโตรเจน (%)    ฟอสฟอรัส (%)    โพแทสเซียม (%)

มูลโค                     1.91                    0.56                    1.40

มูลกระบือ                1.23                    0.69                    1.66

มูลไก่                     3.77                    1.89                    1.76

มูลเป็ด                    2.15                    1.33                    1.15

มูลสุกร                   3.11                  12.20                    1.84

มูลค้างคาว              5.28                     8.42                   0.58

การใช้ปุ๋ยคอกมีข้อดี คือ เป็นวัสดุอินทรีย์ที่หาได้ง่ายในท้องถิ่น มีราคาถูก แต่การนำเอาปุ๋ยคอกไปใส่ให้กับต้นพืชโดยตรงอาจเป็นอันตรายแก่พืชได้ เนื่องจากความร้อนที่เกิดขึ้นจากการหมักในดินและแรงดันออสโมติก เนื่องมาจากความเข้มของแร่ธาตุทำให้ต้นพืชสูญเสียน้ำทางราก และเหี่ยวเฉาตายในที่สุด ดังนั้นควรนำปุ๋ยคอกมาหมักให้เกิดการย่อยสลาย และไม่มีความร้อนหลงเหลืออยู่ นอกจากนี้ระหว่างการหมักปุ๋ยคอกความร้อนที่เกิดขึ้นสูงถึง 70 องศาเซลเซียสจะช่วยกำจัดจุลินทรีย์ก่อโรคที่ติดมากับมูลสัตว์ได้อีกด้วย จึงเป็นการลดความเสี่ยงการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์ในผลิตผลการเกษตร โดยเฉพาะพวกผักสดต่างๆ ซึ่งมักประสบปัญหาเมื่อส่งออกแล้วตรวจพบเชื้อก่อโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร ทำให้ต่างประเทศลดความน่าเชื่อถือ การใช้ปุ๋ยคอกและอินทรียวัตถุเพื่อปรับปรุงโครงสร้างดินอาจใช้ได้ตั้งแต่ 1 – 3 ตันต่อไร่ต่อครั้ง

ไถดินตากแล้วนำเศษพืชมาโรย ใช้แกลบเหลืองและปุ๋ยคอกโรยซ้ำ

(ซ้าย)หลังจากไถดินตากแล้วนำเศษพืชมาโรย
(ขวา)ใช้แกลบเหลืองและปุ๋ยคอกโรยซ้ำ แล้วจึงไถคลุกผสมพร้อมกับราดนำหมักจุลินทรีย์ เพื่อช่วยปรับปรุงโครงสร้างดินก่อนปลูกพืช

 

ปุ๋ยพืชสด

ปุ๋ยพืชสดเป็นปุ๋ยอินทรีย์ชนิดหนึ่งที่ได้จากการไถกลบหรือตัดสับต้นพืชลงในดินขณะที่กำลังมีการออกดอกเพราะมีธาตุอาหารสมบูรณ์และได้น้ำหนักสดมาก หลังจากนั้นปล่อยให้เกิดการย่อยสลายตามธรรมชาติ ก็จะได้ธาตุอาหารสำหรับพืชที่จะปลูกต่อไป ในการปลูกพืชสำหรับเป็นปุ๋ยพืชสดนิยมพืชตระกูลถั่วมากที่สุดเพราะ ปลูกง่าย โตเร็ว มีราก ใบ ลำต้นมากและมีการสลายตัวเร็ว ถั่วที่นิยมใช้เป็นปุ๋ยพืชสด ได้แก่ ปอเทือง โสนอัฟริกัน โสนไต้หวัน โสนคางคก ถั่วที่ปกคลุมดินช่วยปราบวัชพืช ต้นและใบร่วงเป็นปุ๋ยบำรุงดิน เช่น ถั่วพร้า ถั่วลาย ถั่วอัญชัน เป็นต้น

ถั่วพร้าเจริญเติบโตคลุมวัชพืช ถั่วเขียวกำลังออกดอกพร้อมจะไถกลบ

(ซ้าย) ถั่วพร้าเจริญเติบโตคลุมวัชพืช
(ขวา) ถั่วเขียวกำลังออกดอกพร้อมจะไถกลบ

การนำเอาพืชตระกูลถั่วมาเพาะปลูกเป็นปุ๋ยพืชสดมีข้อพิจารณาดังนี้
(1)ลักษณะของดิน ต้องปรับให้เหมาะสม เช่น ถ้าดินเปรี้ยวควรใส่ปูน
(2)ฤดูกาลที่เหมาะสมควรเป็นต้นฤดูฝนประมาณเดือนพฤษภาคม ก่อนการปลูกพืชหลักประมาณ 3 เดือน หรือปลายฤดูฝน หลังการเก็บเกี่ยวพืชหลัก โดยที่ดินยังมีความชื้นอยู่
(3)วิธีการปลูกมี 3 วิธี คือการโรยเมล็ดเป็นแถว หยอดเป็นหลุม และหว่าน ซึ่งควรไถดะก่อนหว่านเมล็ดแล้วคราดกลบ

การใช้ปุ๋ยพืชสดจะเป็นการเพิ่มปริมาณอินทรียวัตถุ แร่ธาตุและความอุดมสมบูรณ์แก่ดินในเวลารวดเร็ว

วิธีการใช้ปุ๋ยพืชสดทำได้ดังนี้
(1)การตัดสับและไถกลบควรทำในช่วงที่พืชมีธาตุไนโตรเจนและน้ำหนักสดสูงสุดเมื่อเริ่มออกดอกและบานเต็มที่
(2)การปลูกพืชปุ๋ยพืชสดในพื้นที่ขนาดใหญ่ใช้วิธีหว่านเมล็ดประมาณ 3 – 4 กิโลกรัมต่อไร่ และไถกลบก่อนปลูกพืชหลัก
(3)การปลูกแซมระหว่างร่องปลูกพืชหลักให้ปลูกเมื่อพืชหลักโตเต็มที่แล้วเพื่อป้องกันการแย่งธาตุอาหาร
(4)กรณีที่เกษตรกรมีพื้นที่ว่างเปล่าตามหัวไร่ปลายนาควรปลูกพืชปุ๋ยพืชสดแล้วตัดเอามาใส่ในแปลงปลูกพืชหลักและไถกลบ

Read full story

02 October 2008

การปรับปรุงคุณภาพดินสู่ระบบเกษตรอินทรีย์ (4)

0 comments

แหล่งน้ำและระบบน้ำสำหรับเกษตรอินทรีย์

การจัดหาแหล่งน้ำสำหรับเกษตรอินทรีย์ถ้าเป็นแหล่งน้ำจากแม่น้ำ หรือระบบชลประทานอาจมีสารเคมีปนเปื้อน และอาจทำให้ไม่ผ่านการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ อย่างไรก็ตามเกษตรกรไทยโดยเฉพาะทางภาคเหนือส่วนใหญ่ มีพื้นที่ทำกินอยู่นอกเขตชลประทานและพื้นที่เป็นภูเขาสูง จึงสามารถสร้างแหล่งเก็บน้ำฝนไว้ใช้ในแปลงเกษตรอินทรีย์ของตนเองโดยอาจทำได้ดังนี้

(1) บริเวณพื้นที่แปลงเกษตรอินทรีย์เป็นภูเขา
ให้ทำการกันพื้นที่ป่าส่วนหนึ่งไว้เป็นพื้นที่รับน้ำฝน และทำคันดินยกสูงกั้นเพื่อกักเก็บน้ำฝนบริเวณที่ลุ่มต่ำเป็นอ่างกักเก็บน้ำไว้ใช้ ซึ่งถ้ามีขนาดพื้นที่ 2-3 ไร่ และลึก 2-3 เมตร สามารถจุน้ำไว้ใช้ในแปลงเกษตรอินทรีย์พื้นที่ไม่เกิน 10 ไร่ ได้ตลอดทั้งปี

(2) บริเวณแปลงเกษตรมีลำห้วยหรือลำธารตามธรรมชาติขนาดเล็กๆไหลผ่าน
ให้ทำการสร้างฝายต้นน้ำขนาดเล็กหรือฝายแม้ว อาจใช้วัสดุในท้องถิ่น เช่น ไม้ ทราย หิน มากั้น รวมทั้งไม้น้ำที่ชอบขึ้นตามลำห้วยมาปักชำเรียงแนวขวางลำห้วยไว้ วิธีนี้ถ้าลำห้วยกว้างประมาณ 5 เมตร และคันฝายสูงประมาณ 1 เมตร ฝายแม้วจะกักเก็บน้ำไว้ได้ประมาณ 500 ลูกบาศก์เมตร สามารถสร้างความชุ่มชื้นให้กับพื้นที่และอาศัยแหล่งน้ำไว้ในการเกษตรได้ แต่ที่สำคัญฝายแม้วช่วยชะลอกระแสน้ำความแรงของน้ำไม่ให้ชะล้างอินทรีย์วัตถุและหน้าดินไหลไปกับกระแสน้ำ

(3) กรณีพื้นที่ทำแปลงเกษตรเป็นพื้นที่ราบ
ให้ทำการขุดสระเก็บน้ำขนาด 2 -3 ไร่ ลึกประมาณ 4 เมตร วิธีนี้อาจสิ้นแปลงค่าใช้จ่ายสูงกว่า 2 วิธีที่กล่าวมา แต่มีข้อดีคือ สามารถใช้ประโยชน์จากสระเก็บน้ำได้หลากหลาย เช่น การเลี้ยงปลาในบ่อ หรือสร้างเล้าไก่บนบ่อ ส่วนคันดินขอบบ่อสามารถปลูกพืชผักสมุนไพร กล้วยหรือไม้ผลยืนต้น การนำเอาน้ำในสระไปใช้ทำได้โดยการสูบขึ้นถังเก็บแล้วปล่อยไหลตามท่อเป็นระบบสปริงเกลอร์ การทำระบบน้ำด้วยวิธีนี้มีความสะดวกในการให้น้ำแก่พืช และประหยัดน้ำได้มาก

Read full story

01 October 2008

การปรับปรุงคุณภาพดินสู่ระบบเกษตรอินทรีย์ (3)

0 comments

การทำเกษตรอินทรีย์เป็นระบบเกษตรที่เน้นความสมดุลของระบบนิเวศน์ อาศัยการเกื้อกูลกันของสิ่งมีชีวิตทั้งในดินและสภาพแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งจุลินทรีย์ในดินมีบทบาทสำคัญในการย่อยสลายอินทรียวัตถุให้เป็นแร่ธาตุแก่พืช


บำรุงดินด้วยอินทรีย์วัตถุ

คุณสมบัติของดิน

การปรับปรุงคุณภาพดินให้มีความอุดมสมบูรณ์จึงจำเป็นต้องศึกษาคุณสมบัติของดินก่อนซึ่งจะต้องประกอบไปด้วยคุณสมบัติ 3 ด้าน

(1) สมบัติทางเคมี คือดินต้องมีความสมดุลของแร่ธาตุอาหาร ประกอบด้วยธาตุอาหารหลักได้แก่ ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียม ธาตุอาหารรองได้แก่ แคลเซียม แมกนีเซียม กำมะถัน ธาตุอาหารเสริม ได้แก่ เหล็ก สังกะสี ทองแดง โบรอน โมลิบดินัม แมงกานีส และคลอรีน โดยดินมีค่าความเป็นกรด-ด่างระหว่าง 6.5 – 7.0

(2) สมบัติทางกายภาพ คือดินต้องมีความสมดุลของอากาศ น้ำ กล่าวคือ ดินต้องมีโครงสร้างที่ดี ร่วนซุย อากาศถ่ายเทได้ดี มีความสามารถในการอุ้มน้ำได้ดี เพื่อช่วยให้รากพืชสามารถแผ่ขยายและชอนไชไปหาแร่ธาตุอาหารได้ง่ายในระยะที่กว้าง ไกล

(3) สมบัติทางชีวภาพ คือดินที่มีความสมดุลของสิ่งมีชีวิตในดิน ทั้งไส้เดือน และ จุลินทรีย์ซึ่งจะทำหน้าที่ย่อยสลายอินทรียวัตถุในดินให้อยู่ในรูปที่พืชนำเอาไปใช้ประโยชน์ได้ จุลินทรีย์บางชนิดสามารถตรึงไนโตรเจนจากอากาศให้เป็นประโยชน์แก่พืชได้ เช่น ไรโซเบียม นอกจากนี้ยังสร้างสารปฏิชีวนะช่วยป้องกัน กำจัดศัตรูพืชในดินได้อีกด้วย

การปรับปรุงดินด้วยพืชตระกูลถั่ว

การปรับปรุงดินในระบบเกษตรอินทรีย์

การปรับปรุงดินเพื่อสร้างความสมดุลให้แก่ดินโดยมีสมบัติที่ดีทั้งด้าน เคมี กายภาพและทางชีวภาพดังที่กล่าวมา มีข้อพิจารณาดังนี้

สิ่งที่อนุญาตให้ใช้ปรับปรุงดิน

(1) ปุ๋ยอินทรีย์ที่ผลิตจากวัสดุในไร่นา เช่น ปุ๋ยหมักจากเศษพืช ฟางข้าว ขี้เลื่อยเปลือกไม้ เศษไม้ และวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรอื่นๆ

(2) ปุ๋ยคอกจากสัตว์ที่เลี้ยงตามธรรมชาติ ไม่ใช้อาหารจากสิ่งมีชีวิตที่ผ่านการตัดแต่งพันธุกรรม (GMO) ไม่ใช้สารเร่งการเจริญเติบโต และไม่มีการทรมานสัตว์

(3) ปุ๋ยพืชสด เศษซากพืชและวัสดุเหลือใช้ในไร่นาในรูปอินทรีย์สาร

(4) ดินพรุที่ไม่เติมสารสังเคราะห์

(5) ปุ๋ยชีวภาพและจุลินทรีย์ที่พบทั่วไปตามธรรมชาติ

(6) ปุ๋ยอินทรีย์และสิ่งขับถ่ายจากไส้เดือนดินและแมลง

(7) ดินอินทรีย์ที่ได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการ

(8) ดินชั้นบน (หน้าดิน) ที่ปลอดจากการใช้สารเคมีมาแล้วอย่างน้อย 1 ปี

(9) ผลิตภัณฑ์จากสาหร่ายและสาหร่ายทะเลที่ได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการ

(10) ปุ๋ยอินทรีย์น้ำที่ได้จากพืชและสัตว์

(11)อุจจาระและปัสสาวะที่ผ่านกระบวนการหมักมาแล้ว (ใช้ได้เฉพาะกับพืชที่ไม่เป็นอาหารของมนุษย์เท่านั้น)

(12)ของเหลวจากระบบน้ำโสโครกจากโรงงานที่ผ่านกระบวนการหมักโดยไม่เติมสารสังเคราะห์ และไม่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อมที่ได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการ

(13) วัสดุที่เหลือใช้จากกระบวนการในโรงงานฆ่าสัตว์ โรงงานอุตสาหกรรม เช่น โรงงานน้ำตาล โรงงานมันสำปะหลัง โรงงานน้ำปลา โดยกระบวนการเหล่านั้นต้องไม่เติมสารสังเคราะห์ และต้องได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการ

(14) สารควบคุมการเจริญเติบโตของพืชหรือสัตว์ ซึ่งได้จากธรรมชาติ

(15)สารอนินทรีย์ ได้แก่ หินบด หินฟอสเฟต หินปูนบด (ไม่เผาไฟ) ยิบซั่ม แคลเซียม ซิลิเกต แมกนีเซียมซัลเฟต แร่ดินเหนียว แร่เฟลด์สปาร์ แร่เพอร์ไลท์ ซีโอไลท์ เบนโทไนท์ หินโพแทส แคลเซียมจากสาหร่ายทะเล และสาหร่ายทะเล เปลือกหอย เถ้าถ่าน เปลือกไข่บด กระดูกป่น และเลือดแห้ง เกลือสินเธาว์ บอแรกซ์ กำมะถัน และธาตุอาหารเสริมสำหรับพืช เช่น โบรอน ทองแดง เหล็ก แมงกานีส โมลิบดินัมและสังกะสี

สิ่งที่ไม่อนุญาตให้ใช้ปรับปรุงดิน

(1) กากตะกอนจากแหล่งน้ำโสโครก (ห้ามใช้กับผัก)

(2) สารเร่งการเจริญเติบโต

(3) จุลินทรีย์และผลิตภัณฑ์จากจุลินทรีย์ที่ผ่านการตัดต่อพันธุกรรม

(4) สารพิษตามธรรมชาติ เช่น โลหะหนักต่างๆ

(5) ปุ๋ยเทศบาล หรือ ปุ๋ยหมักจากขยะในเมือง

Read full story
Related Posts with Thumbnails

H C Supply Co.,Ltd.. Get yours at bighugelabs.com

H C Supply Co.,Ltd.
162 Moo12 Weingkalong Sub-District, Weingpapao District, Chiangrai 57260 THAILAND
Tel. +66 (0)53 952 418 Fax. +66 (0)53 952 136
E-mail : hsuchuanfoods@hotmail.com
 

H C Supply Co.,Ltd. © 2008 Business Ads Ready is Designed by Ipiet Supported by Tadpole's Notez