ปุ๋ยหมัก
ปุ๋ยหมัก เป็นปุ๋ยอินทรีย์ชนิดหนึ่งที่ได้จากการนำเอาวัสดุอินทรีย์ที่เหลือทิ้งในไร่นามาหมักรวมกันแล้วปรับสภาพให้เกิดการย่อยสลายโดยอาศัยกิจกรรมของจุลินทรีย์
การใช้ปุ๋ยหมักในแปลงเกษตรอินทรีย์มีประโยชน์หลายประการดังนี้
(1) เพิ่มปริมาณอินทรียวัตถุให้แก่ดินและเพิ่มปริมาณธาตุอาหารให้แก่พืช
(2) ช่วยรักษาความอุดมสมบูรณ์ให้แก่ดิน โดยธาตุอาหารพืชค่อยละลายออกมา
(3) ช่วยปรับโครงสร้างดิน โดยดินเหนียวจะมีความร่วนซุย และดินทรายมีการยึดเกาะกันมากขึ้น ทำให้ดินมีความสามารถในการอุ้มน้ำในสภาพที่เหมาะสมแก่พืช
(4) เป็นแหล่งอาหารแก่จุลินทรีย์ที่อาศัยอยู่ในดินและช่วยเพิ่มปริมาณจุลินทรีย์ ทำให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์มากขึ้น
การทำปุ๋ยหมักที่ปล่อยให้เกิดการย่อยสลายตามธรรมชาติใช้เวลานานอาจถึง 3 เดือน ซึ่งปัจจุบันมีหน่วยงานต่างๆ ของทางราชการหลายหน่วยได้คิดค้นหัวเชื้อจุลินทรีย์ใช้เป็นตัวเร่งการย่อยสลาย เช่น กรมพัฒนาที่ดิน มีหัวเชื้อชื่อ “สารเร่ง พด.” หัวเชื้อจุลินทรีย์ของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ เป็นต้น โดยหัวเชื้อนี้ประกอบด้วยจุลินทรีย์หลายชนิด ทั้งเชื้อรา แบคทีเรีย และแอคติโนมัยซีส
หัวเชื้อที่เป็นตัวเร่งในการทำปุ๋ยหมัก มี 2 แบบ คือ
1) แบบแห้ง สามารถโรยใส่กองปุ๋ยหมักตามคำแนะนำข้างซอง
2) หัวเชื้อที่เป็นของเหลว ควรทำการขยายหัวเชื้อด้วยการเลี้ยงในกากน้ำตาลผสมน้ำอัตราส่วนกากน้ำตาล 1 ส่วนต่อน้ำ 20 ส่วนโดยใช้หัวเชื้อ 2 ลิตรใส่ในถังขยาย 100 ลิตร หมักทิ้งไว้ด้วยการให้อากาศผ่านปั้มลมประมาณ 4-5 วัน
การทำปุ๋ยหมักจากเศษมะเขือม่วง
เนื่องจากในกระบวนการคัดแยกมะเขือม่วงเพื่อใช้ในการแปรรูป จะมีมะเขือม่วงบางส่วนที่ไม่ผ่านมาตรฐาน จึงสามารถนำมาใช้ทำปุ๋ยหมัก เพื่อลดปริมาณขยะ และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับขยะมะเขือม่วงได้
การทำปุ๋ยหมัก 1,000 กิโลกรัม (1 ตัน) มีส่วนผสมดังนี้
1. เศษมะเขือม่วงสับหรือบดให้แหลก 600 กิโลกรัม
2. ปุ๋ยคอก (ขี้วัว) 300 กิโลกรัม
3. รำอ่อน 2 กระสอบ (50 กิโลกรัม)
4. โดโลไมท์ 50 กิโลกรัม
วิธีการทำปุ๋ยหมักให้คลุกส่วนผสมทั้งหมดเข้าด้วยกันแล้วราดหัวเชื้อจุลินทรีย์ที่เลี้ยงขยายโดยผสมกากน้ำตาลเจือจาง 1 ลิตร ต่อ น้ำ 50 ลิตร เพื่อให้จุลินทรีย์ไปช่วยย่อยสลายอินทรียวัตถุให้มีขนาดเล็กลง สามารถปลดปล่อยธาตุอาหารให้ต้นพืชเอาไปใช้ได้ กลับกองปุ๋ยสัปดาห์ละครั้ง ใช้เวลาหมักประมาณ 1 เดือน ก็ใช้ได้ เมื่อนำปุ๋ยหมักอินทรีย์ไปใส่ในแปลงปลูกอินทรีย์วัตถุทั้งหลายจะถูกย่อยสลายและเปลี่ยนเป็นฮิวมัส ซึ่งเป็นแหล่งธาตุไนโตรเจนพืช ขี้วัวจะให้ธาตุอาหารพวกฟอสฟอรัส และโพแทสเซียม ส่วนโดโลไมท์ เป็นแหล่งธาตุอาหารรอง ได้แก่ แคลเซียม และแมกนีเซียม
(ซ้าย) กองปุ๋ยหมักที่โรยด้วยโดโลไมท์
(ขวา) การกลับกองปุ๋ยหมักจากเศษมะเขือ
การดูแลกองปุ๋ยหมัก
(1)กองปุ๋ยหมักที่ทำไว้ทั้งกลางแจ้งและในโรงเรือนควรรักษาความชื้นให้พอเหมาะ มีวิธีทดสอบง่ายๆ คือ ใช้มือล้วงแล้วบีบเนื้อปุ๋ยเกาะติดกันโดยน้ำไม่ซึมหยดออกจากง่ามนิ้วมือ ถ้าไม่เกาะติดกันแสดงว่าความชื้นน้อยต้องรดน้ำ แต่ถ้าน้ำซึมออกมามากความชื้นมากเกิน ซึ่งทั้งสภาพ 2 แบบจะทำให้การย่อยสลายของกองปุ๋ยช้ากว่าปกติ นอกจากนี้ควรกลับกองปุ๋ยทุกๆ 7-10 วัน เพื่อเป็นการระบายความร้อน และยังเติมอากาศให้กับจุลินทรีย์กลุ่มที่ต้องการอากาศอีกด้วย
(2) กองปุ๋ยหมักกลางแจ้งควรระวังเรื่องฝนที่ตกลงมาชะล้างธาตุอาหาร
(3) เมื่อจะนำเอาปุ๋ยหมักไปใช้ควรให้อุณหภูมิกองปุ๋ยเย็นลงพอๆกับอุณหภูมิภายนอก หรือสีของปุ๋ยคล้ำเป็นสีน้ำตาล จึงค่อยนำเอาไปใช้
การใช้ปุ๋ยหมัก
เมื่อปุ๋ยหมักผ่านกระบวนการหมักจนได้ที่แล้ว การนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์กับพืชนั้นควรดูลักษณะของดินด้วย กรณีที่ดินไม่มีความอุดมสมบูรณ์ขาดอินทรีย์วัตถุ แร่ธาตุอาหารน้อย ดังภาพ จะรวมกันเป็นก้อนแข็งไม่ร่วนซุย สีซีดจาง ดังนั้นควรใช้วิธีใส่ปุ๋ยหมักรองพื้นก่อนปลูกพืช อัตราส่วน 2 ตันต่อไร่ แล้วไถคลุกกับดินทิ้งไว้ประมาณ 2 สัปดาห์ เพื่อให้มีการปลดปล่อยแร่ธาตุอาหารพืช หลังจากนั้นจึงค่อยปลูกพืช และมีการใส่ปุ๋ยหมักเป็นระยะๆ ร่วมกับการใช้ปุ๋ยอินทรีย์น้ำ (น้ำหมักชีวภาพ) ฉีดพ่นทางใบ วิธีนี้พืชจะตอบสนองต่อแร่ธาตุอาหารได้ดีและเจริญเติบโตดี
0 comments:
Post a Comment
เชิญร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น