การประกอบอาชีพเกษตรกรรมให้ประสบความสำเร็จได้นั้นต้องเข้าใจถึงปัจจัยที่มีผลต่อการผลิตด้านการเกษตร 3 ปัจจัยด้วยกัน คือ ปัจจัยทางกายภาพ ปัจจัยทางชีวภาพ และปัจจัยทางเศรษฐกิจสังคม ที่ต้องนำมาพิจารณา เพื่อคัดเลือกกิจกรรมให้เหมาะสมกับสภาพไร่นาของตน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ได้ผลิตผลที่มีปริมาณ และคุณภาพเป็นที่ต้องการของตลาด รวมถึงการอนุรักษ์และปรับสภาพแวดล้อมให้ดีขึ้นไปพร้อมกัน
ปัจจัยทางกายภาพ
ประกอบด้วย ดิน ซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญของการเกษตร เนื่องจากเป็นแหล่งอาหารการของพืชเป็นที่ค้ำจุนรากพืชทำให้ลำต้นตั้งตรงแข็งแรงเป็นที่ดูดซับน้ำสำหรับหล่อเลี้ยงต้นพืช ผลผลิตของพืชจะสูงหรือต่ำขึ้นอยู่กับความอุดมสมบูรณ์ของดินที่มีส่วนประกอบของธาตุอาหารสำคัญ คือ ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม รวมทั้งอินทรียวัตถุและธาตุอาหารรองอื่นๆ ที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของพืช
สภาพที่ดินของประเทศไทยมีหลายลักษณะ จึงทำให้มีผลผลิตทางการเกษตรหลากหลายแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับสภาพท้องถิ่น การจำแนกสภาพพื้นที่ดินของไทยแบ่งออกได้ดังนี้
ที่สูง หมายถึง พื้นที่สูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 700 เมตรขึ้นไป มีสภาพอากาศหนาวเย็นเกือบตลอดปีจึงเหมาะสำหรับปลูกลิ้นจี่ ลำไย เชอรี่ ท้อ ไม้ดอกไม้ประดับ และพืชผักเมืองหนาว
ที่ดอน ส่วนใหญ่อาศัยน้ำฝน เกษตรกรจะปลูก ข้าวโพด ข้าวฟ่าง ถั่วเขียว มันสำปะหลัง ปอ และข้าวไร่ ส่วนบริเวณที่สามารถเก็บกักน้ำได้จะใช้ทำนา ในแหล่งที่มีปริมาณฝนน้อย เช่น จังหวัดชัยภูมิและบางส่วนของจังหวัดนครราชสีมา จะเหมาะสมกับการเลี้ยงสัตว์ และปลูกมะม่วงแก้ว มะม่วงหิมพานต์ มะขามหวาน ซึ่งเป็นไม้ผลที่ทนต่อสภาพแห้งแล้งได้ดี
ที่ราบลุ่ม เหมาะสมสำหรับการทำนาโดยเฉพาะในเขตชลประทาน ดินค่อนข้างอุดมสมบูรณ์ มีน้ำอย่างพอเพียงจะสามารถปลูกข้าวได้ปีละ 2 ครั้งขึ้นไป บางแห่งเกษตรกรจะปรับเปลี่ยนสภาพนาเป็นร่องสวน เพื่อใช้ปลูกพืชผัก และปลูกไม้ผล ไม้ยืนต้นบางแห่งเกษตรกรจะขุดบ่อเลี้ยงปลาและกุ้ง ตัวอย่างเช่น ที่จังหวัดสุพรรณบุรี นครปฐม ปทุมธานี และพระนครศรีอยุธยา
ที่ลุ่มน้ำลึก ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาบางส่วน อ่างทอง สิงห์บุรี ชัยนาท และสุพรรณบุรี รวมเนื้อที่ประมาณ 6 ล้านไร่ พื้นที่ดังกล่าวเหมาะสำหรับปลูกข้าวขึ้นน้ำหรือข้าวฟางลอย เกษตรกรจะเริ่มเตรียมดินโดยการไถดะไถแปร เมื่อฝนเริ่มตกราวปลายเดือนเมษายนหรือต้นเดือนพฤษภาคม หลังการเตรียมดินเกษตร การจะหว่านเมล็ดข้าวแห้งแล้วไถกลบอีกครั้งหนึ่ง เมื่อเมล็ดข้าวได้รับความชื้นจะงอกและเจริญเติบโตอยู่ในสภาพไร่ระยะหนึ่ง เกษตรกรบางรายจะหว่านเมล็ดถั่วเขียวร่วมกับเมล็ดข้าวขึ้นน้ำ เกษตรกรบางรายอาจจะปลูกข้าวโพดเทียน ก่อนหว่านเมล็ดข้าว เกษตรกรเหล่านั้นจะเก็บเกี่ยว ถั่วเขียวและข้าวโพดเทียนพื่อจำหน่ายก่อนน้ำไหลบ่าเข้าท่วมทุ่ง และจะมีระดับน้ำลึกที่สุดประมาณ 125 เซนติเมตร ข้าวขึ้นน้ำก็ยังสามารถติดดอกออกผลได้เป็นปกติ เมื่อระดับน้ำลดลงในปลายเดือนธันวาคมไปจนถึงเดือนมากราคม เกษตรกรจะเก็บเกี่ยวผลผลิตเพื่อจำหน่ายและเก็บไว้บริโภค และทำพันธุ์บางส่วน
คุณภาพของดิน
มีความสำคัญในการเกษตรเป็นอย่างยิ่งเนื่องจากมีผลโดยตรงและทางอ้อมต่อพืชที่ปลูกผลทางตรงจะช่วยให้พืชเจริญเติบโตได้ดส่วนผลทางอ้อมหากปลูกพืชในดินที่ขาดธาตุฟอสฟอรัสเมื่อน้ำพืชที่ขาดธาตุฟอสฟอรัสไปเลี้ยงสัตว์จะมีผลทำให้กระดูกสัตว์ไม่แข็งแรงและเจริญเติบโตช้ากว่าปกติ
ความลึกของหน้าดิน การเพาะปลูกพืชจะได้ผลดีต้องมีหน้าดินลึก 100 เซนติเมตรเป็นอย่างน้อย เพื่อให้รากพืชสามารถหยั่งลงได้ลึกและหาอาหารได้ดีขึ้น
เนื้อดิน แบ่งออกเป็น ดินเหนียว ดินร่วน ดินทราย และดินตะกอน ในบริเวณที่เป็นดินตะกอนมักเป็นดินที่อุดมสมบูรณ์
-ดินร่วนนอกจากมีความอุดมสมบูรณ์สูงแล้วยังสามารถระบายน้ำได้ดีกว่าดินเหนียวอีกด้วย
-ดินทรายเป็นดินเนื้อหยาบมีธาตุอาหารต่ำ และถูกชะล้างได้ง่ายจึงไม่เหมาะสำหรับการเพาะปลูก
-ดินกรด หรือดินที่ชาวบ้านเรียกว่าดินเปรี้ยว มีสมบัติทางเคมีไม่เอื้อต่อการเจริญเติบโตของพืช เนื่องจากพิษของธาตุเหล็กและอลูมินั่ม ดินกรดชาวบ้านใช้วิธีทดสอบด้วยการบ้วนน้ำหมากลงในน้ำดินที่เป็นกรดน้ำหมากจะเปลี่ยนจากสีแดงเป็นสีดำคล้ำทันที วิธีแก้ความเป็นกรดทำได้ด้วยวิธีการใส่ปูนขาว หินปูน หรือปูนมาร์ล เพื่อลดความเป็นพิษของเหล็กและอลูมินั่มลง นอกจากนี้ยังช่วยให้ฟอสฟอรัสในดินเป็นประโยชน์ต่อพืชมากขึ้น
-ดินเค็ม เป็นที่มีเกลืออยู่ปริมาณมากจนเป็นอันตรายต่อพืชวิธีแก้ไขทำได้โดยไม่ปล่อยให้หน้าดินแห้ง เพราะจะทำให้น้ำใต้ดินนำเกลือขึ้นมาสะสมบนหน้าดิน หากดินยังมีความเค็มอยู่ให้เลือกปลูกข้าวพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 ละมุด พุทรา มะขาม มะพร้าว และมะม่วงหิมพานต์ เนื่องจากสามารถทนต่อความเค็มได้ดี
การปรับปรุงและรักษาสมบัติของดินเพื่อการเกษตรกรรม
ในดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ เนื่องจากใช้เพาะปลูกพืชมานานจำเป็นต้องปรับปรุงดินให้มีความอุดมสมบูรณ์เหมาะในการเพาะปลูกพืช หรืออย่างน้อยควรรักษาระดับความอุดมสมบูรณ์ของดินไม่ให้เสื่อมลง วิธีการปรับปรุงบำรุงดินทำได้หลายวิธี การใช้ปุ๋ย เป็นวิธีหนึ่งที่จะช่วยยกระดับผลผลิตให้สูงขึ้น ปุ๋ยที่ใช้มี 2 ชนิด ชนิดแรกคือ ปุ๋ยเคมี ที่มีส่วนประกอบสำคัญ ของธาตุไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียม หรืออาจมีธาตุรองอื่นๆ รวมอยู่ด้วยก็ได้ความต้องการปุ๋ยนั้นขึ้นอยู่กับชนิด และระยะการเจริญเติบโตของพืช ปุ๋ยเคมีเป็นธาตุที่พืชนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างรวดเร็ว และเกษตรกรใช้ได้สะดวก ปุ๋ยชนิดที่ 2 คือ ปุ๋ยอินทรีย์ ได้จากปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก และปุ๋ยพืชสด ปุ๋ยชนิดดังกล่าวนอกจากจะเพิ่มธาตุอาหารในดินแล้วยังช่วยปรับปรุงดินให้ร่วนซุย ไถพรวนง่ายดูดซับน้ำ ได้ดีทั้งนี้เกษตรกรสามารถใช้วัสดุเหลือใช้ในไร่นามาใช้ประโยชน์ได้ การปลูกพืชหมุนเวียนนิยมปลูกพืชตระกูลถั่วร่วมอยู่ด้วย เนื่องจากพืชตระกูลถั่วมีแบคทีเรียอาศัยอยู่ที่ปมราก สามารถตรึงไนโตรเจนให้เป็นประโยชน์ต่อพืชได้และการปลูกพืชคลุมดินจะช่วยไม่ให้หน้าดินถูกชะล้างได้ง่ายโดยเฉพาะในพื้นที่ลาดชัน
น้ำ
น้ำช่วยละลายธาตุอาหารในดิน ทำให้พืชนำไปใช้ประโยชน์ได้ดีขึ้น ช่วยลดอุณหภูมิในต้นพืชในขณะที่มีอุณหภูมิสูง แหล่งน้ำที่นำมาใช้ในการเกษตรได้มาจากน้ำฝน ห้วย หนอง คลอง บึง หรือ ได้จากเขื่อนโครงการชลประทานต่างๆ ดังนั้นการทำกิจกรรมการเกษตรใดๆ จะต้องพิจารณาถึงแหล่งน้ำเพื่อใช้เพาะปลูกพืชในฤดูแล้ง ปริมาณของน้ำจึงเป็นปัจจัยหนึ่งที่เป็นตัวควบคุมขนาดของพื้นที่การเกษตร อุณหภูมิ ปริมาณฝน แสงแดด และความเร็วลม รวมเรียกว่า สภาพลมฟ้าอากาศ จะมีผลต่อการเจริญเติบโตของพืช ซึ่งพืชแต่ละชนิดมีความต้องการอุณหภูมิและแสงแดดแตกต่างกันไป
ปัจจัยทางชีวภาพ
มักมีความสัมพันธ์กับปัจจัยทางเศรษฐกิจ สังคม และปัจจัยทางกายภาพ เช่น ในภาคใต้มีฝนตกชุก ดินอุดมสมบูรณ์ เกษตรกรจึงนิยมปลูกยางพาราเป็นพืชหลัก ซึ่งมีความเหมาะสมกับสภาพภูมิอากาศ ส่วนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือการกระจายของน้ำฝนไม่สม่ำเสมอ อีกทั้งความอุดมสมบูรณ์ต่ำ บางส่วนเป็นดินเค็ม เกษตรกรต้องคัดเลือกปลูกมันสำปะหลัง ปอ ข้าวฟ่าง และมะม่วงหิมพานต์ เนื่องจากทนต่อสภาพแห้งแล้งได้ดี ในบริเวณที่ลุ่มสามารถเก็บกักน้ำได้ เกษตรกรจะปลูกข้าวเหนียวไว้บริโภคในครัวเรือน ภาคเหนืออากาศหนาวเย็น เกษตรกรเลือกปลูกไม้ดอกไม้ประดับ ผักสลัด กะหล่ำปลี กุหลาบ สตรอเบอรี่ ลำไย ลิ้นจี่ และท้อ เป็นต้น ในที่ลุ่มภาคกลางมีระบบการชลประทานที่สมบูรณ์ จึงเป็นแหล่งผลิตข้างที่สำคัญของประเทศ การปลูกข้าวอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน จึงทำให้โรคและแมลงศัตรูพืชระบาด อย่างรุนแรง ดังนั้นเกษตรกรจึงต้องเปลี่ยนพันธุ์ข้าวทุก 3 - 5 ปี เช่น ในจังหวัดสุพรรณบุรีการใช้เปลี่ยนการใช้พันธุ์ข้าวจาก กข 7 และสุพรรณบุรี 60 มาใช้ สุพรรณบุรี 90 ปทุมธานี 1 และชัยนาท 1 ทดแทน เนื่องจากเหตุผลดังกล่าวข้างต้น
ปัจจัยทางเศรษฐกิจสังคม
นับว่ามีความสำคัญต่อการกำหนดทิศทางการพัฒนาการเกษตรเป็นอย่างมากตัวอย่างที่เห็นได้ง่ายเช่น ผลของการพัฒนาชนบทที่ผ่านมา มีการสร้างถนนหนทาง ไฟฟ้าและประปาในหมู่บ้าน โดยมีเป้าหมายเพื่อปรับปรับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้น ผลกระทบที่ตามมาคือชาวชนบทส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรต้องเพิ่มค่าใช้จ่ายในการซื้อรถจักรยนต์ พัดลม ตู้เย็น หรือแม้แต่โทรทัศน์ ซึ่งสิ่งอำนวยความสะดวกเหล่านี้บางชนิดอาจไม่จำเป็นต่อการดำรงชีพเลยก็มี ทั้งนี้องค์ประกอบทางเศรษฐกิจและสังคมมีความซับซ้อนมากขึ้น จึงเข้ามาเกี่ยวข้องกับการเกษตรอย่างหลีกเลี้ยงไม่ได้ ดังนั้นปัจจัยทางเศรษฐกิจและสังคมที่ควรนำมาร่วมพิจารณาก็คือ
แรงงาน หมายถึง การใช้กำลังกาย เข้าทำงาน เพื่อแลกกับเงินหรือสินค้าอย่างอื่น แล้วแต่จะตกลงกันระหว่างผู้จ้างและผู้ถูกจ้าง หากเกษตรกรใช้กำลังของตัวเองเรียกว่า การใช้แรงงานของตนเอง แรงงานที่ใช้ในการเกษตรมีหลายประการ คือ แรงงานที่ไม่ได้คิดเป็นตัวเงิน เช่น แรงงานในครอบครัว และแรงงานจ้างแบ่ง เป็นแรงงานจ้างตลอดปี และการจ้างบางฤดูหรือบางครั้งบางคราว ดังนั้น การพิจารณาการใช้ขนาดพื้นที่ของไร่นาต้องอาศัย จำนวนแรงงาน ทั้งนี้ลักษณะของพืชหรือสัตว์ที่ทำการผลิต ดังตัวอย่าง การปลูกผักจะใช้แรงงานมากกว่าการปลูกพืชไร่ในพื้นที่เท่ากันหรือการเลี้ยงโคนมต้องใช้ แรงงานมากกว่าวัวเนื้อ ทุน เป็นทั้งปัจจัยการผลิตมีที่เป็นตัวเงินและไม่ใช้ตัวเงิน ทั้งนี้พันธุ์สัตว์ พันธุ์พืช เครื่องมือ เครื่องจักรกลการเกษตร ขนาดเล็กและโรงเรือน จัดเป็นทุนประเภทคงทนถาวร ส่วนเมล็ดพืช อาหารสัตว์ สารเคมี น้ำมันเชื้อเพลิง และเงินที่ใช้จ่ายในการดำเนินการเพื่อซื้อปัจจัยการผลิต หรือเพื่อจ่ายค่าจ้างแรงงานจัดเป็นทุนประเภทหมุนเวียน ทั้งนี้การลงทุนในไร่นาของเกษตรกรย่อมจะแตกต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่น จะเห็นว่าเกษตรกรในภาคกลางจะลงทุนมากกว่าภาคอื่น ๆ อีกทั้งขนาดพื้นที่เฉลี่ยก็ยังมากที่สุดอีกด้วย เฉลี่ยประมาณ 30 ไร่ต่อครอบครัว นอกจากนี้แล้วดินยังมีความอุดมสมบูรณ์ค่อนสูง ทำให้มีการลงทุนด้านการใช้แรงงาน และเครื่องมือการเกษตรสูงกว่าภาคอื่น ๆ อีกด้วย ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือแม้ว่าขนาดพื้นที่ไร่นามีขนาดใกล้เคียงกับภาคกลางก็ตามแต่เป็นภาคที่มีการลงทุนต่ำที่สุด เนื่องจากดินขาดความอุดมสมบูรณ์นั่นเอง อีกทั้งการกระจายตัวปริมาณน้ำฝนไม่สม่ำเสมอ ทำให้มีฝนทิ้งช่วงในฤดูเพาะปลูกค่อนข้างยาวนาน ส่งผลทำให้การเพาะปลูกเสียหายอยู่เสมอ
ศาสนาและวัฒนธรรม มีอิทธิพลต่อการพัฒนาการเกษตรเป็นอย่างยิ่ง ตัวอย่างเช่นใน 4 จังหวัดภาคใต้ ตั้งแต่ สตูล ยะลา ปัตตานี ไป จนถึงนราธิวาส ที่ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม หากมีการส่งเสริมและพัฒนาให้เป็นแหล่งผลิตสุกรในภาคใต้ โอกาสของโครงการดังกล่าวจะประสบผลสำเร็จคงเป็นไปไม่ได้ เนื่องจากขัดต่อหลักศาสนา ตลาด การผลิตสินค้าเกษตรใดๆก็ตาม เมื่อผลิตได้มากเกินความต้องการของผู้บริโภค ปัญหาสินค้าล้นตลาดย่อมเกิดขึ้น ดังนั้นการจะผลิตสินค้าใดๆ ต้องให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดเป็นสำคัญเกษตรกรต้องจัดหา ตลอดในท้องถิ่นอย่างเหมาะสม ไม่เช่นนั้นแล้ว แม้ว่าผลผลิตจะมีคุณภาพดีเพียงใดก็ไม่เกิดประโยชน์ เมื่อไม่มีตลอดรองรับสินค้า สิ่งอำนวยความสะดวกที่รัฐจัดหาให้ ไม่ว่าจะเป็นถนน ไฟฟ้า และประปา ในชุมชนที่มีปัจจัยดังกล่าวครบบริบูรณ์ ย่อมมีต้นทุนการผลิตในการขนส่งต่ำ สินค้าที่นำส่งตลาดจะไม่บอบช้ำ เกษตรกรสามารถรับรู้ข้อมูลข่าวสารได้รวดเร็วกว่าในถิ่นที่ห่างไกลจากชุมชนออกไป จะเห็นได้ว่าผู้ประกอบอาชีพทางเกษตรกรจะต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไข และปัจจัยต่างๆ ซึ่งแตกต่างกันไป ทั้งนี้เกษตรกรจะต้องรู้จักวิธีจัดการทรัพยากรที่มีอยู่ในไร่นาให้เป็นระเบียบและเป็นระบบในสัดส่วนที่เหมาะสมประการสำคัญ การประกอบอาชีพเกษตรกรรมนั้นสมาชิกในครอบครัวจะต้องมีความพึงพอใจ มีเวลาพักผ่อนมีโอกาสไปวัดฟังธรรมและมีเวลาคบหาสมาคมกับเพื่อนบ้านได้ตามประเพณีอย่างเหมาะสมจึงจะนับว่า เกษตรกรผู้นั้นประสบผลสำเร็จในการประกอบอาชีพเกษตรกรรมได้อย่างมีความสุข
ที่มา : ศูนย์สารสนเทศ กรมวิชาการเกษตร