30 September 2009

ผลไม้เมืองร้อนไทย สยายปีกตีตลาดจีน

0 comments

สาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นตลาดส่งออกสินค้าเกษตรสำคัญของไทย โดยมีมูลค่าส่งออกสูงถึง 200,000 ล้านบาทต่อปี และมีสินค้าส่งออกหลัก ได้แก่ ยางพารา ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ข้าว ผลไม้ สดแช่เย็น-แช่แข็งและแห้ง ปลาสดแช่เย็น-แช่แข็ง กุ้งสดแช่เย็น-แช่แข็ง ปลาหมึกสดแช่เย็น-แช่แข็ง กล้วยไม้ สัตว์น้ำ จำพวกครัสตาเซีย และตะพาบน้ำ เป็นต้น

 

ขณะนี้ผลไม้ไทยกำลังได้รับความนิยมจากผู้บริโภคชาวจีนอย่างมาก ทำให้ไทยสามารถส่งออกผลไม้คุณภาพดีไปจีนได้ปีละกว่า 5,000 ล้านบาท และปีนี้คาดว่ามูลค่าส่งออกจะมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอีก เนื่องจากกระทรวง เกษตรฯ เร่งสร้างความเชื่อมั่นในคุณภาพสินค้า และความปลอดภัยทางอาหารให้กับผู้นำเข้า ซึ่งเป็นช่องทางที่จะช่วยขยายตลาดส่งออกผลไม้ไทยในจีนได้เพิ่มมากขึ้น

 

นายธีระ วงศ์สมุทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ กล่าวว่า กระทรวงเกษตรฯ มอบหมายให้สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตร และอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ร่วมกับสำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศประจำกรุงปักกิ่ง ภาคเอกชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการจัดโรดโชว์ ศักยภาพผลไม้เมืองร้อนของไทยได้แก่ ทุเรียน มังคุด ลำไย เงาะ ลองกอง ส้มโอ และ กล้วยไข่ ที่ตลาดขายส่งสินค้าเกษตรซินฟาตี้ ณ กรุงปักกิ่ง ภายใต้ ชื่อ “ผลไม้มงคล สดจากไทยปลอดภัยได้มาตรฐานสากล”

 

การจัดโรดโชว์ครั้งนี้ ยังเป็นการเปิดเวทีให้ผู้ส่งออกผลไม้ของไทยได้พบปะกับผู้นำเข้าและลูกค้าชาวจีนที่มาซื้อผลไม้ ณ ตลาดผลไม้กรุงปักกิ่ง ซึ่งจะทำให้ได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาการผลิตสินค้าเกษตรให้ตรงตามความต้องการของตลาด ซึ่งผลการจัดงานปรากฏว่าได้รับความสนใจจากผู้นำเข้า ผู้ค้าส่ง-ค้าปลีก และผู้บริโภคชาวจีนเป็นจำนวนมาก

 

ปัจจุบันรัฐบาลจีนอนุญาตให้นำเข้าผลไม้ไทย จำนวน 23 ชนิด สำหรับผลไม้ที่ได้รับความนิยม ได้ แก่ ทุเรียน มังคุด ลำไย กล้วยไข่ ชมพู่ทับทิมจันทร์ มะม่วงน้ำดอกไม้ เงาะโรงเรียน ส้มโอ มะขามหวาน มะพร้าวน้ำหอม ส้ม เปลือกล่อน น้อยหน่า และแก้วมังกร นอกจากนั้นยังมีผลไม้แปรรูปหลายชนิดกำลังเป็นที่นิยมด้วย อาทิ ลำไยอบแห้ง ทุเรียนทอดกรอบ กล้วยอบกรอบ ขนุนและสับปะรดอบกรอบ เป็นต้น

ประเทศไทยได้เปิดช่องทางขนส่งสินค้าผลไม้ไปจีนเส้นทางใหม่ คือ เส้นทาง R9 จากจังหวัดมุกดาหารผ่านลาว เวียดนาม เข้าสู่ด่านโหย่อี้กว่าน เมืองผิงเสียง มณฑลกวางสีของจีน ระยะทางรวมประมาณ 1,200 กิโลเมตร ซึ่งการลำเลียงสินค้าไปยังปลายทางจะใช้ระยะเวลาสั้น ประมาณ 2-3 วัน ทำให้ชาวจีนที่อยู่ห่างไกลมีโอกาสบริโภคผลไม้ไทยที่ยังสด ใหม่ รสชาติดี และคงคุณค่าทางโภชนาการที่สมบูรณ์เหมือนกับสินค้าที่คน ไทยได้บริโภค อนาคตคาดว่าการเปิดเส้นทาง R9 จะช่วยให้ไทยสามารถกระจายสินค้า ผลไม้และสินค้าเกษตรอื่น ๆ ไปจีนได้เพิ่มขึ้น 20-30% หรือประมาณ 1,000-1,500 ล้านบาท

 

นางสาวเมทนี สุคนธรักษ์ ผอ.สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) กล่าวเพิ่มเติมว่า การเยือนจีนครั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ได้หารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงควบคุมคุณภาพและตรวจสอบกักกันโรค (AQSIQ) แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยฝ่ายไทยขอให้ AQSIQ มั่นใจในสินค้าเกษตรและอาหารจากไทยโดยเฉพาะผลไม้

 

นอกจากนั้น AQSIQ ยังได้เสนอ ให้มีการทำความร่วมมือในการขนส่งสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้นอีก 1 เส้นทาง คือ เส้นทาง R3 ที่เชื่อมระหว่างจังหวัดเชียงรายไปยังมณฑลยูนนานของจีน ซึ่งการขนส่งสินค้าผ่านเส้นทางนี้ จะทำให้เกิดการค้าสินค้าผักและผลไม้ระหว่างกันเพิ่มมากขึ้นและทั้ง 2 ฝ่ายยังได้หารือถึงแนวทางการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช พร้อมพิจารณาความก้าวหน้าเรื่องคงค้างระหว่างกัน

 

หลังเปิดเขตเสรีทางการค้าหรือ เอฟทีเอ (FTA) ระหว่างไทย-จีน ที่มีการปรับ ลดภาษีนำเข้าตามข้อตกลงเหลือร้อยละ 0 ส่งผลให้มีการขยายการค้าสินค้าผักและผลไม้ เพิ่มขึ้น โดยไทยเป็นฝ่ายได้ดุลการค้า และการเปิดใช้เส้นทาง R9 ขนส่งสินค้า ผลไม้ทางบกไปยังจีนจะเป็นช่องทางสำคัญที่ช่วยกระจายสินค้าผลไม้ไปจีนได้เพิ่มมากขึ้นและรวดเร็วด้วย โดยเฉพาะช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาดกระจุกตัวมาก คาดว่าจะสามารถช่วยระบายสินค้าออกจากแหล่งผลิตและช่วยลดปัญหาสินค้าล้นตลาดได้

 

ข้อมูล เดลินิวส์

Read full story

ทดลองปลูกสตรอเบอร์รี่

0 comments

 

ปลูกสตรอเบอร์รี่ในรางปลูกระบบไร้ดินหลังจากที่สถานีทดลองได้ทำการขยายพันธุ์และเพาะเลี้ยงต้นกล้าสตรอเบอร์รี่พันธุ์ไต้หวันด้วยการใช้ไหล ได้ต้นกล้าที่แข็งแรงและสมบูรณ์ดี จึงได้นำต้นกล้ามาทดลองปลูกโดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ


กลุ่มแรก ปลูกในรางปลูกระบบไร้ดิน โดยใช้ขุยมะพร้าวเป็นวัสดุปลูก ให้น้ำและปุ๋ยทางระบบน้ำหยด


กลุ่มที่สอง ปลูกในแปลงปลูก ให้น้ำและปุ๋ยเหมือนกับการปลูกสตรอเบอร์รี่ในดินตามปกติ

 

ซึ่งโดยปกติแล้ว สตรอเบอร์รี่จะเริ่มติดดอกในช่วงเดือนพฤศจิกายน และผลจะสุกหลังจากติดดอก 21-25 วัน ระยะแรกผลจะมีสีเขียว และค่อย ๆ เปลี่ยนเป็นสีขาว เมื่อผลแก่จะเปลี่ยนเป็นสีแดงเข้ม มีรสเปรี้ยวปนหวาน  (ฝ่ายส่งเสริมการเกษตร สำนักวิจัยและส่งเสริมวิชาการการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ )

Read full story

28 September 2009

โอกาสของสินค้าเกษตรไทยในไต้หวัน

0 comments

eatseasonably.co.uk โดยปกติแล้วไต้หวันไม่ใช่ตลาดส่งออกหลักของสินค้าเกษตรไทย เนื่องจากไต้หวันเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความก้าวหน้าด้านการเกษตรเป็นอย่างมาก สามารถผลิตผักและผลไม้ได้เป็นจำนวนมาก และหลายชนิดวางขายในราคาที่ถูกกว่าประเทศไทย แต่หลังจากที่ไต้หวันหันมาให้ความสำคัญกับการพัฒนาอุตสาหกรรมไฮเทคมากขึ้น การผลิตสินค้าเกษตรจึงลดความสำคัญลง โดยส่วนใหญ่เป็นการผลิตเพื่อบริโภคภายในประเทศเท่านั้น และจะนำเข้าเฉพาะในช่วงนอกฤดูการผลิต (กรกฎาคม-กันยายนของทุกปี) ซึ่งเป็นช่วงที่พายุไต้ฝุ่นพัดผ่านเกาะไต้หวัน และมักสร้างความเสียหายให้แก่พื้นที่เกษตรของไต้หวันเป็นบริเวณกว้าง

 

Trade Update ฉบับนี้ จึงขอแนะนำข้อมูลที่น่าสนใจและกฎระเบียบที่ผู้ส่งออกควรทราบในการส่งออก สินค้าเกษตรไปยังไต้หวัน ดังนี้


ตลาดค้าส่งสินค้าพืชผักที่สำคัญในไต้หวันมีอยู่ 6 แห่ง กระจายอยู่ทั่วประเทศ ประกอบด้วย ตลาดไทเป 1 และ 2 (ภาคเหนือ) ตลาดซีหลัว เมืองยวินหลิน และตลาดซีหู เมืองจางฮว่า (ภาคกลาง) ตลาดเมืองเกาสงและตลาดเมืองผิงตง (ภาคใต้) ซึ่งสินค้าส่วนใหญ่ ทั้งที่ผลิตจากในประเทศและนำเข้าจากต่างประเทศ จะถูกนำมาประมูลในตลาดค้าส่งก่อนจะเปลี่ยนมาสู่ผู้ค้าปลีกต่อไป

สินค้าผักสดสำคัญที่ไต้หวันนำเข้าจากต่างประเทศ ได้แก่ กะหล่ำดอก บร็อกโคลิ หน่อไม้ฝรั่ง หอมหัวใหญ่ กระเทียม ถั่วลันเตา เห็ดหูหนู ผักกาดแก้ว และกะหล่ำพันธุ์ต่าง ๆ โดยนำเข้าหน่อไม้ฝรั่งจากไทยมากที่สุด คิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 57.92 ของการนำเข้าทั้งหมด ส่วนสินค้าเกษตรที่ไต้หวันต้องการนำเข้าเพิ่มเติม ได้แก่ กะหล่ำปลี ผักกาดขาวปลี ผักกาดหวานหรือสลัดคอส (Romaine Lettuce/ Cos Lettuce) ผักกาดหอมห่อ หัวไชเท้า พริก ผักชี ขึ้นฉ่าย ผักกวางตุ้ง ผักกาดแก้ว เป็นต้น

learners.in.th อย่างไรก็ดี ไต้หวันมีหน่วยงานที่ดำเนินการตรวจกักกันโรคพืชและสารตกค้างอย่างเข้มงวด ทำให้ขณะนี้ไทยยังไม่สามารถส่งออกผักหลายชนิดไปไต้หวันได้ อาทิ มะเขือ พริก ถั่วฝักยาว และผักชี ดังนั้นผู้ส่งออกไทยจึงควรใช้ความระมัดระวังในกระบวนการบรรจุผลิตภัณฑ์และการใช้ยา ฆ่าแมลงเพื่อให้สามารถผ่านมาตรฐานของฝ่ายไต้หวัน นอกจากนี้ สินค้าเกษตรที่ส่งออกไปยังไต้หวันต้องมีหนังสือรับรองสุขอนามัยพืช (Phytosanitary Certificate) และหนังสือรับรองแหล่งกำเนิดสินค้า (Certificate of Origin) ซึ่งผู้ส่งออกอาจต้องใช้หลักฐานประกอบเพิ่มเติม อาทิ ภาพถ่ายของแหล่งผลิต วิธีการบรรจุผลิตภัณฑ์ เพื่อให้ศุลกากรไต้หวันมั่นใจว่าสินค้านั้น ๆ มีแหล่งกำเนิดในประเทศไทยจริง ทั้งนี้ อัตราภาษีนำเข้าของไต้หวันอยู่ที่ร้อยละ 0 - 30 (สินค้ากระเทียมสด เรียกเก็บในอัตรา 27 ดอลลาร์ไต้หวันต่อกิโลกรัม)

สำหรับการนำ เข้าสินค้าเกษตรอินทรีย์นั้น ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2552 เป็นต้นมา สินค้าที่ระบุว่าเป็นสินค้าเกษตรอินทรีย์ จะต้องผ่านการรับรองตราสินค้าอินทรีย์ของประเทศต้นทางโดยสภาเกษตรไต้หวัน ก่อนจึงจะสามารถใช้ตราสินค้าอินทรีย์ได้ ซึ่งขณะนี้สภาเกษตรยังอยู่ระหว่างการตรวจรับรองตราสินค้าอินทรีย์ของประเทศ ต่าง ๆ

ปัจจุบัน ไต้หวันยังคงห้ามการนำเข้าสินค้าส่วนใหญ่จากจีน ทำให้ผู้ส่งออกไทยสามารถทำตลาดไต้หวันได้ง่ายกว่าประเทศอื่น แต่ผู้ส่งออกไทยก็ควรมุ่งพัฒนาผลิตภัณฑ์ของตนโดยให้ความสำคัญกับการผลิต สินค้าเกรดดีมีคุณภาพสูงมากกว่าการผลิตสินค้าคุณภาพต่ำราคาถูกในปริมาณมาก เพราะสามารถขายได้ราคาดีกว่า นอกจากนี้ แนวคิดเกี่ยวกับการรับประทานเพื่อสุขภาพและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมกำลังได้ รับความสนใจมากขึ้นเรื่อย ๆ ผู้ประกอบการจึงควรให้ความสำคัญกับกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Eco Friendly) หรือการทำเกษตรอินทรีย์เพิ่มขึ้น เพราะสามารถใช้เป็นจุดขายได้ดี

ผู้ประกอบการไทยที่ต้องการส่ง ออกผักสดไปยังไต้หวัน สามารถขอข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานการค้าและเศรษฐกิจไทย โทรศัพท์ (88-62) 2581-1979 อี-เมล์ tteo@ms22.hinet.net หรือเว็บไซต์ www.tteo.org.tw/th/index.asp

 

ข้อมูลจาก Happytreebiz

Read full story

18 September 2009

ปุ๋ยพืชสด

0 comments

 

ปุ๋ยพืชสด เป็นปุ๋ยอินทรีย์ชนิดหนึ่งที่ได้จากต้นพืชและใบสดที่ปลูกเอาไว้ หรือขึ้นเองตามธรรมชาติ เมื่อไถกลบหรือทิ้งไว้ให้เน่าเปื่อยผุพังหมดแล้วจะให้ธาตุอาหารพืช และเพิ่มปริมาณอินทรีย์วัตถุในดิน ซึ่งจำเป็นต่อพืชหลักที่ปลูก ช่วยป้องกันไม่ให้ดินเกิดการเสื่อมโทรมเร็วเกินไป และยังช่วยอนุรักษ์ดินและน้ำได้ด้วย

 

การปลูกพืชเพื่อใช้เป็นปุ๋ยพืชสดนั้น หลังการไถกลบต้นพืชแล้ว ส่วนหนึ่งของเศษพืชที่ตกค้างอยู่จะทำหน้าที่คลุมดิน ป้องกันการระเหยของน้ำจากผิวดิน ขณะเดียวกันเศษพืชที่อยู่ในดิน เมื่อสลายตัวจะกลายเป็นอินทรียวัตถุ ที่ช่วยให้สภาพทางกายภาพของดินดีขึ้น

 

คุณสมบัติของพืชที่เหมาะสมสำหรับใช้เป็นปุ๋ยพืชสด
ต้องเป็นพืชที่ปลูกง่าย เจริญเติบโตได้เร็วในดินทั่ว ๆ ไป เมล็ดงอกงามดี ออกดอกในเวลาสั้น ประมาณ 30-60 วัน และให้น้ำหนักสดสูง ต้านทางโรคและแมลงได้ดี ขยายพันธุ์ได้ง่ายและเร็วสามารถไถกลบได้ง่าย ลำต้นเปราะและเน่าเปื่อย สลายตัวได้รวดเร็วและที่สำคัญคือ ต้องมีธาตุอาหารสูง

ประโยชน์ของพืชสด
1. ลดอัตราการชะล้างพังทลายของดิน
2. ช่วยทำให้ดินโปร่ง ร่วนซุย สะดวกในการไถพรวนและเตรียมดิน
3. เพิ่มความสามารถในการอุ้มน้ำรักษาความชื้นให้แก่ดิน
4. เพิ่มปริมาณอินทรียวัตถุในดิน
5. ช่วยบำรุงรักษาความอุดมสมบูรณ์ของดิน
6. เพิ่มความสามารถในการดูดซึมธาตุอาหารของดินให้สูงขึ้น
7. ลดปริมาณการใช้ปุ๋ยเคมี และเพิ่มผลผลิตของพืชให้สูงขึ้น

 

www.ldd.go.th

ปมรากของพืชตระกูลถั่ว ที่สามารถช่วยตรึงไนโตรเจนในอากาศได้ดี

ประเภทของปุ๋ยพืชสด
ปุ๋ยพืชสดนั้นมีอยู่ด้วยกันมากมายหลายชนิด ทั้งที่เป็นพืชตระกูลถั่ว และที่ไม่ใช่พืชตระกูลถั่วที่มีใช้กันอยู่อย่างแพร่หลาย ดังนี้
1. พืชตระกูลถั่ว เป็นพืชที่นิยมใช้กันมากสำหรับเป็นปุ๋ยพืชสด เนื่องจากว่าพืชตระกูลถั่วนอกจากจะขึ้นได้ง่าย และเจริญเติบโตได้ดีแล้ว ที่รากพืชตระกูลถั่วจะมีปมรากมากมาย อันเป็นที่อาศัยของบักเตรีชนิดหนึ่ง คือ ไรโซเบียม ซึ่งสามารถตรึงไนโตรเจนจากอากาศได้
2. พืชตระกูลหญ้า ส่วนมากเป็นหญ้าซึ่งปลูกเพื่อใช้เลี้ยงสัตว์ หญ้าเหล่านี้เมื่อปลูกแล้วไถกลบเป็นปุ๋ยพืชสดได้เช่นกัน แต่จะให้เพียงอินทรียวัตถุ    ส่วนแร่ธาตุอาหารพืชอย่างอื่นนั้นมีปริมาณน้อยกว่าพืชตระกูลถั่ว
3. พืชน้ำ มีอยู่ด้วยกันหลายชนิดที่สามารถนำมาใส่ในไร่นาแล้วไถกลบให้เป็นปุ๋ยพืชสดได้ เช่น ผักตบชวา, จอก และแหนแดง

การใช้ประโยชน์
วิธีการใช้ปุ๋ยพืชสดอาจแยกออกได้ตามลักษณะของระบบปลูกพืช ซึ่งมีอยู่ด้วยกันหลายวิธี ดังนี้
1. การปลูกพืชหมุนเวียน
2. การปลูกพืชแซม
3. การปลูกพืชแถบ
4. การปลูกพืชคลุมดิน

 

http://www.kasetporpeang.com

Read full story

ทดลองขยายพันธุ์สตรอเบอร์รี่ด้วยไหล

0 comments
ใช้ไหลขยายพันธุ์สตรอเบอร์รี่

สตอเบอร์รี่ (Strawberry) เป็นผลไม้ที่มีรสชาติอร่อยและเป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไป จัดเป็นไม้ผลเศรษฐกิจชนิดหนึ่งที่มีการปลูกกระจายกันมากที่สุดในโลก สามารถพบได้แทบทุกประเทศ ตั้งแต่แถบขั้วโลกลงมาถึงพื้นที่ในเขตร้อน ซึ่งมีความแตกต่างกันทั้งสภาพภูมิอากาศและชนิดดินที่ใช้ปลูก บางพันธุ์จะพบว่าสามารถปลูก ในทางเหนือของโลก เช่น  Alaska ได้ดีเท่ากับปลูกในทางใต้ลงมาเช่นแถบ Equator


ผลผลิตสตรอเบอร์รี่ที่ใช้สำหรับบริโภคเป็นผลสด และใช้ในเชิงอุตสาหกรรมแปรรูปได้เพิ่มปริมาณมากขึ้นอย่างรวดเร็วตามประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ทั้งนี้ เป็นสาเหตุมาจากการผสมพันธุ์ใหม่ที่ให้ผลผลิตยาวนานขึ้น การนำระบบปลูกแบบดูแลอย่างใกล้ชิดมาใช้ ตลอดจนการเลือกพื้นที่ปลูก ที่มีความเหมาะสมมากกว่าแต่ก่อน ในปัจจุบันนี้ก็ยังมีการทดลองวิจัยที่จะหาวิธีการต่าง ๆ เพื่อที่จะทำให้การปลูกสตรอเบอร์รี่นั้นง่ายขึ้น โดยเน้นการให้ผลผลิตสูงและสามารถทำรายได้ตอบแทนเป็นที่พอใจแก่เกษตรกรผู้ปลูก

 

การขยายพันธุ์สตรอเบอร์รี่มีด้วยกันหลายวิธี ขึ้นกับวัตถุประสงค์และลักษณะประจำพันธุ์ แต่วิธีที่เป็นที่นิยม โดยเฉพาะการปลูกสตรอเบอร์รี่ในประเทศไทยจะได้แก่ การใช้ไหล ซึ่งเป็นตาที่เจริญเติบโตมาจากต้นแม่ ตรงบริเวณซอกของก้านใบ การผลิตต้นไหลจะทำหลังจากการเก็บเกี่ยวผลผลิตเสร็จแล้ว (มีนาคม – เมษายน) โดยนำต้นไหลมาปลูกในถุงดำ ปล่อยให้เจริญเติบโตจนถึงเดือนมิถุนายน จึงนำไปปลูกบนที่สูงประมาณ 1,200 – 1,400 เมตร เพื่อให้สามารถตั้งตัวและออกดอกได้เร็ว มีระยะการเก็บเกี่ยวได้นานขึ้น เมื่อเริ่มเข้าสู่ปลายเดือนกันยายน จะนำกลับลงมาปลูกในแปลงบนพื้นที่ราบ

 

 

 

ไหลสตอร์เบอร์รี่พันธุ์ไต้หวันที่ขยายได้

สถานีทดลองได้ทำการทดลองขยายพันธุ์สตรอเบอร์รี่ที่นำท่อนไหลมาจากไต้หวัน ได้ไหลที่มีความสมบูรณ์ ใบใหญ่ และแข็งแรง ซึ่งจะนำไหลที่ทำการขยายได้ทั้งหมดไปทดลองปลูกในโรงเรือนในช่วงฤดูหนาว เพื่อทดสอบว่าพื้นที่ อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย ซึ่งมีความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 750 –780 เมตร จะสามารถปลูกสตรอเบอร์รี่ให้ผลิตได้หรือไม่

 

 

 

http://pennisakowaim-a.blogspot.com
http://www.thaigoodview.com

http://www.ku.ac.th

http://blog.hunsa.com/yisumsam6605

Read full story

17 September 2009

ปลูกปอเทืองช่วยปรับปรุงคุณภาพดิน

0 comments

ปอเทืองปอเทือง (Crotalaria juncea) เป็นพืชฤดูเดียวตระกูลถั่ว ลำต้นตั้งตรงแตกกิ่งก้านสาขามากสูงประมาณ 180 - 300 เซนติเมตร ใบเป็นใบเดียวยาวรี ช่อดอกเป็นแบบราซีม (racemes) ซึ่งอยู่ปลายกิ่งก้านสาขา ประกอบด้วยดอกย่อย 8 -20 ดอก ดอกสีเหลืองมีการผสมข้ามฝักเป็นทรงกระบอกยาว 3 - 6 เซนติเมตร กว้าง 1 - 2 เซนติเมตร หนึ่งฝักมีประมาณ 6 เมล็ด เมื่อเขย่าฝักแก่จะมีเสียงดังเนื่องจากเมล็ดกระทบกันเมล็ดมีรูปร่างคล้ายหัวใจสีน้ำตาลหรือดำ มี 10 -20  เมล็ด / ฝัก เมล็ดหนึ่งกิโลกรัมจะมีเมล็ดจำนวน 40,000 - 50,000 เมล็ด หรือหนึ่งลิตรจะมีประมาณ 34,481 เมล็ด

 

ปอเทืองสามารถปลูกเพื่อใช้เป็นปุ๋ยพืชสด น้ำหนักสดประมาณ 1.5 - 5 ตันต่อไร่ จะให้ธาตุไนโตรเจนประมาณ 8.7 ถึง 28.9 กิโลกรัมต่อไร่ นิยมปลูกในสภาพพื้นที่ดอนในรูปแบบของพืชหมุนเวียน โดยหว่านหรือโรยเมล็ดก่อนการปลูกพืชหลัก เช่น ข้าวโพด มันสำปะหลัง อ้อย เป็นต้น อย่างน้อย 2 - 2.5 เดือน แล้วไถกลบปอเทืองที่อายุประมาณ 50 - 60 วัน ในขณะที่ดินยังมีความชื้น ทิ้งไว้ 7 - 10 วัน ก่อนปลูกพืชหลัก หรืออาจปลูกในรูปแบบของพืชแซม โดยปลูกระหว่างแถวพืชหลัก ปลูกหลังจากพืชหลักประมาณ 1 - 2 สัปดาห์


การปลูกปอเทืองเพื่อใช้ปรับปรุงบำรุงดินควรปลูกในช่วงต้นฤดูฝน เพื่อไถกลบเป็นปุ๋ยพืชสดก่อนการปลูกพืชหลัก แต่การปลูกปอเทือง ช่วงเดือน ตุลาคม ถึงเดือน ธันวาคม เหมาะสำหรับเก็บเมล็ดพันธุ์เพราะจะได้เมล็ดที่มีคุณภาพ หลังจากเก็บเกี่ยวในช่วงเดือน กุมภาพันธ์ ถึงเดือนมีนาคม  ไถกลบต้นตอ

 


การเตรียมดินและการปลูก

1. ปลูกโดยไม่ต้องเตรียมดิน
1.1 ก่อนการเก็บเกี่ยวข้าว  ใช้เมล็ดพันธุ์ปอเทืองหว่าน 1 – 2 วัน จึงใช้รถเก็บเกี่ยวข้าว  แต่วิธีนี้จะสูญเสียเมล็ดพันธุ์มากจากการกลบของฟางข้าว
1.2 หลังการเก็บเกี่ยวข้าว ใช้เมล็ดปอเทืองหว่าน ตามร่องรถเกี่ยวข้าว หรือกระจายฟางข้าวให้ทั่วแปลง  หรือจะเก็บฟางข้าวไว้เลี้ยงสัตว์ วิธีนี้จะได้ใช้พื้นที่มากขึ้น
2. ปลูกโดยการเตรียมดิน
ใช้รถไถขณะดินมีความชื้นอยู่ แล้วหว่านเมล็ดปอเทือง จะคราดกลบหรือไม่ก็ได้  ถ้าคราดกลบจะงอกได้สม่ำเสมอและเจริญเติบโตดี

การดูแลรักษา

หลังการหว่านเมล็ดพันธุ์ปอเทืองแล้วประมาณ  3 – 5 วัน จะงอกโดยอาศัยความชื้นที่มีอยู่ในดิน  ไม่ต้องให้น้ำ
เมื่ออายุ  50 – 60 วัน ดอกเริ่มบานจากข้างล่างก่อน หลังดอกร่วงโรยจะติดฝักจากข้างล่างก่อนเช่นเดียวกัน
ฝักจะแก่เก็บเกี่ยวได้เมื่ออายุ  120 – 130 วัน
ศัตรูที่สำคัญ ได้แก่หนอนผีเสื้อจะเจาะฝักกินเมล็ดข้างใน

การเก็บเกี่ยวผลผลิต
1. ใช้รถเกี่ยวข้าวเก็บเกี่ยว แต่ไม่เป็นที่นิยมเนื่องจากไม่คุ้มกับการลงทุนทั้งเจ้าของรถเกี่ยวคือ ลำต้นจะมีความแข็งเกิดความเสียหายต่อเครื่องจักรสำหรับเกษตรกรผลผลิตค่อนข้างต่ำจึงไม่คุ้มต่อการลงทุน
2.ใช้เคียวเกี่ยวผึ่งแดดไว้ 3 – 4 แดด นำมาใส่กระสอบแล้วทุบให้ฝักแตก หรือนำมากองบนผ้าใบ บนตาข่าย บนลานแล้วใช้รถย่ำในบริเวณแปลงนาได้เลย  ผลผลิตเฉลี่ย 80 -  120  กิโลกรัมต่อไร่

Read full story

10 September 2009

เกษตรอินทรีย์ไทย คิดให้ไกลกว่า "ปลูกข้าว"

0 comments

มูลค่าสินค้าเกษตรอินทรีย์ในตลาดโลก แต่ละปีมีอัตราการเติบโตเฉลี่ย ปีละ 20 เปอร์เซ็นต์ และหากเข้าไปดูในห้างสรรพสินค้าต่างๆ สินค้าเกษตรอินทรีย์ก็จะมีราคาที่สูงกว่าสินค้าทั่วไปถึงสามเท่าตัวหรือ มากกว่านั้น นั่นจึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศเกษตรกรรมมองเห็น โอกาสนี้ และพยายามที่จะปรับตัวเข้าไปสู่กระแสของสินค้าเกษตรอินทรีย์ สินค้าเพื่อสุขภาพ

 

แต่คำถามก็คือเราจะก้าวไปอย่างไร ถ้าเราได้เปรียบในกระแสนี้ เราจะเดินไปอย่างไร จะปลูกข้าวเกษตรอินทรีย์ไปตลอด โดยมีเวียดนาม ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และลาวเป็นคู่แข่งอย่างนั้นหรือ

 

 

ในการประชุมวิชาการและเสนอผลงานวิจัยและนวัตกรรมระดับนานาชาติ Go...Organic 2009 เมื่อกลางเดือนสิงหาคม 2552 เป็นการประชุมที่จัดโดยสำนักนวัตกรรมแห่งชาติ ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีที่ผ่านมา ช่วยให้ผู้ประกอบการไทยมองเห็นเกษตรอินทรีย์ของไทยในเวทีโลกได้ชัดเจนขึ้น

 

ปัจจัยที่ผู้ประกอบการควรรู้ก็คือสินค้าเกษตรอินทรีย์ แม้ว่าจะมีราคาดีในตลาดยุโรปอเมริกาและญี่ปุ่น แต่การจะได้มาตรฐานเกษตรอินทรีย์เป็นเรื่องที่ยากขึ้นทุกวัน เพราะมาตรฐานต่างๆ จะมีการปรับกฎเกณฑ์ทุกปีเพื่อให้ทันสมัย และมีกฎเกณฑ์เพื่อกีดกันทางการค้ามากขึ้นทุกปี

ในอีกปัจจัยหนึ่งที่ควบคู่กันก็คือในขณะที่สินค้าเกษตรอินทรีย์เป็นเทรนด์ แต่พื้นที่เพาะปลูกอาจจะน้อยลง เพราะพื้นที่ส่วนหนึ่งต้องถูกแบ่งปันเพื่อปลูกพืชพลังงาน

 

ในอีกทางหนึ่งก็มีแนวโน้มเช่นกันว่า ในขณะที่มาตรการต่างๆ มีการปรับให้ทันสมัย แต่ในอนาคตน่าจะผ่อนปรนลงด้วยเช่นกัน

 

คุณาวุฒิ บุญญานพคุณ ผู้จัดการโครงการด้านเกษตรอินทรีย์ สำนักนวัตกรรมแห่งชาติ สรุปภาพจากการประชุมครั้งที่ผ่านมาทั้งในด้านของไทยที่ต้องรับมือกับกฎระเบียบ และเตรียมตัวสำหรับการเข้าสู่ตลาดเกษตรอินทรีย์ในอนาคต

 

แปรรูปเกษตรอินทรีย์คิดได้แล้ว

ตามที่ได้เกริ่นไว้ หากไทยยังยึดอยู่ที่การปรับความสมดุลในดินทำการเกษตรอินทรีย์เพื่อมูลค่าเพิ่ม ทำคอนแทร็กต์ฟาร์มมิ่ง (Contract farming)  ปลูกข้าวเกษตรอินทรีย์ สร้างมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ทั้งในไทยและส่งออก เช่น มาตรฐาน IFOAM จากสภาพันธุ์เกษตรอินทรีย์นานาชาติ ก็ดูจะช้าไปหน่อย เพราะคู่แข่งที่สำคัญก็คือประเทศที่เป็นเกษตรกรรมแบบดั้งเดิมไม่ใช้สารเคมี เช่น ลาว เวียดนามมาแรง ฉะนั้นแล้วสิ่งที่ไทยควรจะมองข้ามชอตไปเลย ก็คือสินค้าแปรรูปจากเกษตรอินทรีย์ เช่น สแน็ก อาหารเสริม ขนม มีการพัฒนาไปค่อนข้างมากแล้ว แต่ก็ยังไม่พอเพียง

 

"เป้าที่สำคัญ คือเราไม่ควรที่จะขายแค่ของสด พืชเป้าหมายของคณะกรรมการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ ก็คือข้าว สมุนไพร ผัก และผลไม้ไทย หน่อไม้ฝรั่ง ข้าวโพดอ่อน ซึ่งมีศักยภายที่จะมาแปรรูปได้ เราส่งของสดในบางส่วน แต่ผลผลิตในส่วนที่ขนาดยังไม่ได้มาตรฐาน เราก็นำมาแปรรูปทำอาหารเสริม หรือผลิตภัณฑ์อื่นๆ"

 

ส่วนผู้ที่จะแปรรูปหรือต่อยอดเกษตรอินทรีย์ในบ้านเรามีผลการศึกษาและรวบรวมฐานข้อมูลของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ร่วมกับสมาคมการค้าเกษตรอินทรีย์ไทย พบว่าปัจจุบันงานวิจัยและนวัตกรรมที่ผ่านมามีจำนวนเพียง 270 ชิ้น โดยเฉลี่ยมีงานวิจัยประมาณ 20-30 งานวิจัยต่อปีเท่านั้น ซึ่งการประชุมในครั้งนี้จะเกิดโอกาสใหม่ๆ ที่ผู้ประกอบการไทยสามารถที่จะนำมาต่อยอดได้อย่างถูกจุด

 

http://www.organic-europe.net

 

ตรวจสอบย้อนกลับในเกษตรอินทรีย์

นอกจากนี้ ในเวทีของการประชุมดังกล่าว ยังมีการพูดถึงมาตรฐานของการตรวจสอบย้อนกลับ ที่จะนำมาใช้ร่วมในสินค้าเกษตรอินทรีย์ด้วย

 

สินค้าเกษตรทั่วไป อาจจะเป็นแค่การระบุว่ามาจากประเทศอะไร ฟาร์มอะไร แต่การปรับมาเป็นการตรวจสอบแบบย้อนกลับสำหรับเกษตรอินทรีย์ จะต้องมาปรับในรายละเอียดต่างๆ อีกมาก เช่น มาตรฐานสบู่อินทรีย์ต้องมีส่วนประกอบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จะมีอะไรบ้างที่เป็นส่วนประกอบ ในกลุ่มเครื่องสำอางมีส่วนผสมที่ต้องมาดูมาปรับให้มีมาตรฐาน ตัวระบบมาตรฐานไทยเราก็ต้องเตรียมพัฒนาขึ้นมา ถ้าเราจะขายเนื้อหมูเกษตรอินทรีย์ เราไม่เคยมีมาตรฐานมาก่อน เราก็ต้องพัฒนาควบคู่กันขึ้นมาด้วย การแปรรูปสัตว์น้ำ มาตรฐานผลิตภัณฑ์ต้องทำแผนระบบการพัฒนามาตรฐานการผลิต การแปรรูปที่สามารถรองรับกับมาตรฐานของยุโรปได้อีกด้วย

 

เกษตรอินทรีย์ไทยจะถูกกีดกันอะไรบ้าง

สิ่งที่เป็นประเด็นในการประชุมครั้งนี้ก็คือการใช้สารในการต้านแมลง  IFOAM ได้มีการพูดถึงสารที่ไม่อนุญาตให้ใช้ในการฆ่าแมลง เช่น สะเดา ซึ่งบ้านเราใช้ฆ่าแมลงตามธรรมชาติ แต่เนื่องจากว่าสะเดาเองไม่มีในยุโรป ทางยุโรปจึงมีการออกกฎระเบียบ ห้ามไม่ให้เราใช้สารจากสะเดาในการฆ่าแมลง รวมทั้งสมุนไพรไทยตัวอื่นๆ ด้วย

 

"ยาสูบป้องกันแมลง ต้นหนอนตายยาก พืชสมุนไพรไทยทั้งหลาย ห้ามเราใช้ทั้งหมด ซึ่งในปีนี้ ทางสำนักนวัตกรรมเองก็ได้เตรียมยื่นเรื่องรวบรวมงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับ สะเดาและสมุนไพรไทยเพื่อเข้าไปเจรจาต่อรองในเวทีอีกด้วย"

 

ในส่วนของเมล็ดพันธุ์ที่มีการพูดกันมากคือสารเคมีที่นำมาใช้กันเชื้อรา เริ่มจากการใช้ในขั้นตอนการเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ออกจำหน่าย ซึ่งที่ผ่านมาทาง IFOAM ได้ผ่อนผัน หรือปิดตาข้างหนึ่งมาตลอด แต่ในเวทีก็มีการพูดถึงกันอีกครั้ง โดยมีการระบุว่าภายในปี 2010 จะมีการตรวจสอบเรื่องเมล็ดพันธุ์อย่างเข้มข้น

 

อย่างไรก็ดี ปัญหาเรื่องเมล็ดพันธุ์ เป็นความพยายามที่ยากยิ่ง เพราะเมล็ดพันธุ์ส่วนใหญ่อยู่ในมือของบริษัทขนาดใหญ่ ทำให้การพูดคุยในประเด็นนี้เป็นโอกาสของคนที่คิดพัฒนาเมล็ดพันธุ์ปลอดสารในอนาคตอีกช่องทางหนึ่ง

 

รวมทั้งความคืบหน้าในการที่จะเชื่อมโยง มาตรฐานของยุโรป คือ IFOAM และการจัดตั้งตัวแทนของ IFOAM ในแต่ละประเทศ เพื่อที่จะออกมาตรฐานรับรองเกษตรอินทรีย์ในประเทศนั้นๆ ได้เลย

 

สำหรับเมืองไทยและผู้ประกอบการไทย หากคิดจะทำบิสซิเนสโมเดลในตอนนี้จะต้องมองให้ไกลและมองให้คุ้มทุนอย่างที่สุด โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่จะก้าวจากการปรับสินค้าเกษตรที่ใช้สารเคมีในปัจจุบันไปสู่การเป็นฟาร์มเกษตรอินทรีย์ก็อาจจะช้าเกินไป และยังเป็นการลงทุนที่สูงด้วย ดังนั้นการมองโอกาสในธุรกิจนี้จึงต้องมองในระยะยาว วางแผนตั้งแต่การผลิต แปรรูป และการวิจัยพัฒนาเพื่อเชื่อมต่อและใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า

 

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 3 กันยายน 2552

Read full story

09 September 2009

วิธีการคำนวณปุ๋ยอินทรีย์สำหรับปรับปรุงดิน

0 comments

ในการปรับปรุงคุณภาพดินของสถานีทดลอง พบว่าผลวิเคราะห์ดินของสถานีทดลองมีค่า pH ค่อนข้างเป็นกรดเล็กน้อย แต่มีอินทรียวัตถุต่ำมากและมีแคลเซียมต่ำกว่าค่ามาตรฐานที่พืชต้องการถึง 10 เท่า ดังนั้นจึงจำเป็นต้องเตรียมปุ๋ยหรือเศษอินทรียวัตถุเพิ่มลงในดิน การเพิ่มแคลเซียมสามารถใช้เศษเปลือกไข่บด หรือหินปูนบดที่ไม่เผาไฟประมาณ 200 กิโลกรัมต่อไร่ แต่ถ้าหาไม่ได้ก็ใช้โดโลไมท์แทนก็ได้ในอัตราเดียวกัน

วิธีการคำนวณปุ๋ยอินทรีย์สำหรับดินขนาด 1 ไร่
สมมติให้รากพืชสามารถหาอาหารได้ในความลึกเพียง 10 ซม. เท่านั้น (ในความเป็นจริงค่าจะมากกว่านี้) ดังนั้นคำนวณค่าต่างๆคือ

(1) พื้นที่ 1 ตร.ม. เท่ากับมีดิน 0.1 ลูกบาศก์เมตร

(2) พื้นที่ 1 ไร่เทียบเป็นตารางเมตรได้ 1,600 ตร.ม. จึงเท่ากับมีปริมาณดิน 160 ลบ.ม.

(3) ค่าความหนาแน่นของดิน พบว่าดินทั่วไปมีค่าเท่ากับ 1.3 – 1.5 กรัม/ลบ.ซม. คิดที่สูงสุดเพราะเป็นดินเหนียวหนาแน่นมาก คือ 1,500 กรัม ต่อ ลิตร หรือ 1.5 ตัน/ลบ.ม.

(4) ปริมาณดิน 1 ลบ.ม. มีน้ำหนัก 1.5 ตัน นั่นคือ ดิน 1 ไร่ที่คิดหน้าดินลึกเพียง 10 ซม.จะมีน้ำหนักเท่ากับ 160 x 1.5 = 240 ตัน หรือ 24,00 กิโลกรัม

ผลการวิเคราะห์ดินของสถานีทดลองพบว่ามีอินทรียวัตถุ 0.97 หรือประมาณ 1% ในขณะที่ค่ามาตรฐานอยู่ที่ 3% และโดยทั่วไปปุ๋ยอินทรีย์จะมีอินทรียวัตถุ 50%


ทำการเทียบแบบ Pearson’s Square* จะได้ว่า

 

นั่นหมายความว่าใช้ดิน 47 ส่วนผสมกับปุ๋ยอินทรีย์ที่มีอินทรียวัตถุ 50% จำนวน 2 ส่วนจะได้อินทรียวัตถุในดิน 3% เมื่อเทียบบัญญัติไตรยางศ์จะได้

ดิน 47 กิโลกรัม ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ 2 กิโลกรัม

ดิน 24,00 กิโลกรัม จะใช้ปุ๋ยอินทรีย์ 2 x 24,000 = 1,021.28 กก.

                                                                  47

นั่นคือต้องใช้ปุ๋ยอินทรีย์ครั้งละ 1.02 ตันต่อไร่ในแต่ละครั้ง แต่อินทรียวัตถุจะสลายตัวหมดได้ไม่เกิน 2 เดือน  ดังนั้นทั้งปีจึงต้องใช้ปุ๋ยอินทรีย์บำรุงดินขั้นต่ำ 6 ตันต่อไร่ จึงจะสามารถรักษาระดับอินทรียวัตถุในดินได้ตามความต้องการของพืช

* การคำนวณโดยใช้สี่เหลี่ยมของเพียร์สัน (Pearson's square method)
เป็นวิธีคำนวณโดยอาศัยรูปสี่เหลี่ยม เหมาะสำหรับใช้เมื่อมีวัตถุดิบเพียงสองชนิดหรือสองกลุ่ม และปริมาณที่ต้องการคำนวณจะต้องมีหน่วยในรูปร้อยละเท่านั้น ในกรณีของการคำนวณเพื่อปรับปรุงดินปริมาณอินทรีย์วัตถุที่ต้องการจะต้องมีค่าอยู่ระหว่างจำนวนอินทรีย์วัตถุที่มีอยู่ในวัตถุดิบของทั้งสองกลุ่ม

 

ขั้นตอนในการคำนวณ มีดังนี้
1. เขียนปริมาณอินทรีย์วัตถุที่ต้องการเป็นร้อยละไว้ตรงกึ่งกลางของรูปสี่เหลี่ยม ในที่นี้คือ 3

2. เขียนปริมาณอินทรีย์วัตถุซึ่งอยู่ในวัตถุดิบแต่ละชนิดที่ต้องการใช้ทั้งสองชนิดเป็นร้อยละ ไว้ตรงมุมซ้ายทั้งบน และล่างของรูปสี่เหลี่ยม ในที่นี้คือ ดิน = 1 และ ปุ๋ย = 50

3. หาผลต่างระหว่างตัวเลขที่มุมซ้ายกับตัวเลขกึ่งกลางของรูปสี่เหลี่ยมคำนวณแล้วใส่ผลต่างไว้ทางมุมขวาตามแนวเส้นทะแยงมุมของ ตัวเลขที่ใช้หาผลต่าง

ดิน 1-3 = 2

ปุ๋ย 50 –3 = 47


4. ตัวเลขที่ได้ทางมุมขวาเป็นปริมาณหรือสัดส่วนของวัตถุดิบที่เมื่อผสมวัตถุดิบทั้งสองชนิดตามสัดส่วนที่ได้นี้จะได้ดินที่มีจำนวนอินทรีย์วัตถุตรงกับความต้องการที่กำหนดไว้

อ้างอิง : อ.ธาตรี จีราพันธุ์ มหาวิทยาลัยราชภัฎนครสวรรค์

Read full story

บริโภคผักสมุนไพร ต้านภัยหวัด 2009

0 comments

ภาพจาก www.lifestyles.net

ผักพื้นบ้านและสมุนไพรไทย นับเป็นภูมิปัญญาไทยชั้นเลิศที่ช่วยรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง ห่าง ไกลจากโรคภัยไข้เจ็บ ดังนั้น ในยุคที่โรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่กำลังระบาดไปทั่ว แถมยังไม่มีวัคซีนป้องกัน รศ.ดร.พร้อมจิต ศรลัมพ์ เภสัชกรหญิงแห่ง ม.มหิดล จึงออกมาแนะนำให้คนไทยหันมาให้ความสำคัญกับพืชผักสมุนไพรพื้นบ้านที่มีอยู่แล้ว โดยนำมาปรุงเป็นอาหารรับประทาน เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้ร่างกายแข็งแรง และยังต้านภัยไข้หวัดได้อีกต่างหาก

รศ.ดร.พร้อมจิตเผยว่า คนไทยเรานั้นโชคดีที่มีความหลากหลายทางทรัพยากรและภูมิปัญญา ซึ่งสถานการณ์การแพร่ระบาดไข้หวัดสายพันธุ์ใหม่ 2009 ครั้งนี้ เป็นเพราะเราไม่รู้จักมาก่อน และร่างกายเราเองก็ไม่รู้จัก ในทางทฤษฎีการแพทย์แผนไทยเน้นการป้องกันก่อนเกิดโรค การบริโภคพืชผักและสมุนไพรที่มีฤทธิ์ต่อต้านเชื้อโรค (แอนตี้ออกซิเดนท์) จึงถือเป็นการป้องกันจากภายใน โดยเข้าไปช่วยการสร้างระบบภูมิคุ้มกันให้กับเม็ดเลือดขาว ซึ่งคนโบราณมีวิธีแยกความแตกต่างและคุณประโยชน์ของผักและสมุนไพรพื้นบ้าน จากสี กลิ่นและรสชาติ อาทิ หอมแดง จะมีสารแอนตี้ออกซิเดนท์ ที่ช่วยเสริมระบบภูมิคุ้มกันโดยตรง ส่วนผักที่มีรสเปรี้ยว ฝาด จะมีกรดวิตามินซีสูง เพิ่มความต้านทานไข้หวัด

สำหรับพืชผักที่ควรนำมาบริโภคในช่วงไข้หวัดระบาดนี้ ได้แก่ กลุ่มผักมีสี อาทิ กระเจี๊ยบแดง มะเขือเทศ มะละกอ กลุ่มที่มีกลิ่นหอม อาทิ หอมแดง กระชาย มะตูม กลุ่มที่มีรสเปรี้ยว อาทิ สมอ มะขามป้อม ส่วนที่มีรสเผ็ดร้อน อาทิ ขิง ขมิ้น โหระพา กะเพรา กลุ่มที่มีรสฝาด อาทิ สมอไทย สมอพิเภก ชาเขียว สำหรับรสขม ได้แก่ สะเดา เพกา ซึ่งมีวิตามินซีสูงมาก และเมนูที่น่าจะเป็นที่ถูกใจแม่บ้านยุคใหม่ที่คำนึงถึงเรื่องความสวยความงามของร่างกาย คือกลุ่มเมนูยำผักสมุนไพรต่างๆ เพราะอุดมไปด้วยคุณประโยชน์ต่อร่างกาย ที่สำคัญใช้เวลาในการปรุงไม่มาก แถมให้รสชาติถูกปาก คือมีรสเปรี้ยว หวาน เค็ม กลมกล่อม ซึ่งควรจะ บริโภคเมนูยำผักสมุนไพรเป็นประจำทุกวัน เพราะนอกจากจะมีวิตามินซีสูงต้านทานไข้หวัดแล้ว ยังมีสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกัน ลดการเกิดมะเร็ง อันจะเป็นผลดีในระยะยาว

 

ข้อมูล หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับวันที่ 1 กันยายน 2552

Read full story
Related Posts with Thumbnails

H C Supply Co.,Ltd.. Get yours at bighugelabs.com

H C Supply Co.,Ltd.
162 Moo12 Weingkalong Sub-District, Weingpapao District, Chiangrai 57260 THAILAND
Tel. +66 (0)53 952 418 Fax. +66 (0)53 952 136
E-mail : hsuchuanfoods@hotmail.com
 

H C Supply Co.,Ltd. © 2008 Business Ads Ready is Designed by Ipiet Supported by Tadpole's Notez